10 อาชีพ “STEM” สานฝันศึกษาต่อในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “STEM” เป็นส่วนสำคัญในการก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ บนโลกใบนี้ เห็นได้จากการเกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย ดังนั้น การส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ในศาสตร์ที่จำเป็นต่อมวลมนุษยชาติ และแนะแนวให้ตรงกับความถนัดตั้งแต่วัยเด็ก จึงเป็นตัวช่วยที่ดีตั้งแต่ระดับต้นน้ำ

แต่กระนั้น คงไม่มีใครให้ความรู้เกี่ยวกับสายงาน STEM ได้ดีเท่ากับผู้ที่คลุกคลีอยู่ในอาชีพนั้น จึงทำให้เกิด โครงการ Enjoy Science Career โดย บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สถาบันคีนันแห่งเอเชีย ด้วยการแนะนำ 10 อาชีพ ที่ใช้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จัดทำเป็นชุดนิทรรศการผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่านิทรรศการ “Enjoy Science Career : สนุกกับอาชีพวิทย์” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Enjoy Science Career : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ

“โครงการนี้เป็นแนวทางที่ภาครัฐร่วมมือกับเอกชน เพื่อมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มครอบคลุมทั่วประเทศ จนเกิดแรงบันดาลใจในการเลือกเส้นทางศึกษาต่อในอนาคตต่อไป”

“ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ของโครงการ เรามีการคัดเลือก 10 อาชีพใหม่ เช่น นักวิจัยวัสดุนาโน, ผู้ดูแลสมรรถภาพนักกีฬา, วิศวกรระบบราง, เกษตรยุคใหม่ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นต้น เพื่อเน้นอาชีพที่สามารถประกอบอาชีพในวงกว้าง ทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งกลุ่มผู้เรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ โดยได้มีการเชิญบุคคลต้นแบบอาชีพวิทย์ จาก 3 อาชีพมาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้อง ๆ ด้วย”

โดยบุคคลแรกคือ “สิริวิมล ชื่นบาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า สายอาชีพนี้มีความท้าทายตลอดเวลา เนื่องจากต้องเป็นทั้งครูที่สอนเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เป็นนักกฎหมายที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ เป็นนักขายเมื่อต้องนำอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยใหม่ ๆ ไปนำเสนอให้แก่สถานประกอบการ แต่หลัก ๆ คือการทำงานเพื่อให้ผู้ร่วมงานปลอดภัย ทั้งในระดับองค์กร และระดับชุมชน

“รศ.ดร.ปันรสี ฤทธิประวัติ” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บุคคลต้นแบบวิศวกรหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ในอดีตเรื่องหุ่นยนต์ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่เพียงไม่กี่ปีหุ่นยนต์กำลังจะกลายเป็นสิ่งธรรมดาที่จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งในรูปแบบหุ่นยนต์การแพทย์ หุ่นยนต์ที่ใช้เพื่อการเรียนการสอน ซึ่งต่อไปจะมีบทบาทมากขึ้นอย่างแน่นอน

“ดังนั้น การพัฒนาหุ่นยนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งพัฒนา แน่นอนว่าต้องอาศัยองค์ความรู้หลักคือด้านคอมพิวเตอร์ ด้านเครื่องยนต์กลไก และด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล้วนมีพื้นฐานจากการเรียนสะเต็มทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน จะมีการข้ามศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงไปยังสายงานอื่น ๆ เช่น ด้านศิลปะ ดีไซน์ เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปลักษณ์ และการใช้งานไปพร้อม ๆ กัน”

“พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์” เกษตรกรยุคใหม่กล่าวว่า ผมเกิดมาในยุคที่ครอบครัวมองว่าการเรียนด้านเกษตรมีอนาคตที่ลำบาก แต่ผมกลับมองเห็นความยั่งยืนของอาชีพนี้ หากสามารถพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน

“การมีความรู้พื้นฐาน การวิเคราะห์ดินจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เกษตรกรต้องรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพืชผลที่ลงทุนไป รวมไปถึงในอนาคตที่เกษตรกรไทยจะต้องค้าขายกับต่างประเทศ จึงยิ่งต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรมากขึ้น และจะต้องอาศัยความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก”

ฉะนั้น จึงต้องยอมรับว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่วิชาอีกต่อไปแต่หากเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่อาชีพในอนาคตด้วย