มหิดล ปลื้ม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ติดท็อป 50 มหา’ลัยโลก

มหิดล ปลื้ม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ติดท็อป 50 จากการจับอันดับ QS World University Rankings by Subject 2022 มุ่งขับเคลื่อน soft power ด้าน “เอนก” ตั้งเป้าการศึกษาไทยต้องติดท็อป 5 ในเอเชีย

วันที่ 25 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ TOP 50 จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2022 โดย สาขา Performing Arts วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 47 เป็นที่น่ายินดีที่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อย่างงดงามภายในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เปรียบเสมือนการ Taking a Giant Step ของการศึกษาด้าน Performing Arts ของประเทศไทย เพราะการเข้าสู่อันดับ TOP 50 มีความยากมาก

เนื่องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นสถาบันดนตรีโดยเฉพาะ ต้องแข่งกับหลาย ๆ สถาบันที่มีความหลากหลาย ด้าน Performing Arts เพราะหลายมหาวิทยาลัยมีหลายสาขาวิชาในด้านนี้ เช่น ละคร นาฎศิลป์ และศิลปะในด้านอื่น ๆ แต่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีความเฉพาะเจาะจง โดยเป็นวิทยาลัยดนตรีเพียงอย่างเดียวทำให้การเพิ่มคะแนนต้องทำด้วยความยากลำบาก และต้องมีการวางแผน ในการจัดการอย่างเป็นระบบ

ถึงแม้ว่าเกณฑ์การให้คะแนนในสาขา Performing Arts จะขึ้นอยู่กับการให้คะแนนในสองด้าน คือ ชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) และชื่อเสียงของนายจ้าง (Employer Reputation) การที่จะทำให้สถาบันในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในทั้งสองด้านจนมีคะแนน ในระดับ TOP 50 ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น

เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อันดับ TOP 50 มีเพียงแค่ 50 อันดับ จากสถาบันด้านศิลปะนับหมื่นแห่งทั่วโลก การที่มีสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ เปรียบเสหมือน การสร้างต้นน้ำที่ดี และมั่นคง เป็นฐานในการต่อยอดของการสร้าง soft power และ creative economy ของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน

การศึกษาไทยต้องติดท็อป 5 เอเชีย

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อว่า เราอยู่ในประเทศที่ค่อนข้างคิดในแง่ลบ เสพข่าวในด้านลบ จริงๆ แล้วอุดมศึกษาไทยเราไม่แพ้ใคร ถ้าในภูมิภาคอาเซียนเราจะแพ้เพียงแต่สิงคโปร์เท่านั้น และเทียบเคียงกับมาเลเซีย แต่ประเทศไทยเรามีความเก่งในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการแพทย์ การกีฬา การเกษตรสมัยใหม่

ดังนั้นเราจะต้องมองให้เห็นว่าเรามีอะไรดี เรามีวัฒนธรรม มีอาหารการกินที่ดี มีคนเก่ง กรอบความคิดเรื่องชาติด้อยพัฒนาควรที่จะทิ้งไป เพราะเรายังปรารถนาที่จะเป็นท็อป 1 ใน 5 ของทวีปเอเชีย ที่มีประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศมหาอำนาจในโลก

แม้ว่าระบบของเรายังต้องปรับปรุงแก้ไข แต่คนของเราหลายคนก็ยังแสดงความเก่งออกมาได้ ตนในฐานะ รมว.อว.ก็พยายามที่จะปลดล็อกทุกเรื่องที่ขัดขวางพัฒนาการของคนเหล่านี้ ให้ประเทศเราแสดงความเก่งออกมาให้ได้อย่างเด่นชัด จะไม่ใช้บรรทัดฐานเดียวมาใช้ในการวัดคนทุกคน และตนมองว่าเรื่องศิลปะจะเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ทำให้ทั่วโลกนับถือคนไทยมากขึ้น ทำให้ประเทศของเราก้าวไปได้อย่างยั่งยืน และผมคิดว่ามหาวิทยาลัยไทยควรสอนเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะ อาหาร มากขึ้น เพราะนี่คือจุดเด่นของเราที่ต่างชาติมองว่ามีเสน่ห์

ขับเคลื่อน soft power

ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ม.มหิดล ยังมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนการพัฒนาด้าน “Performing Arts” อย่างเข้าใจและจริงจัง ทำให้การพัฒนาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นไปอย่างก้าวกระโดด แม้ว่าสาขาดนตรีจะมีความแตกต่างจากสาขาวิชาอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย

แต่อย่างที่ทุกคนทราบ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในแต่ละกระดานมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเราต้องเข้าใจกติกาการพิจารณาผ่านมาตรฐานการเรียนการสอน ผู้สอนมีชื่อเสียง ผลงานโดดเด่น และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ม.มหิดลมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ทำให้ทุกมิติบรรลุเป้าหมาย และการที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ได้รับการจัดอันดับครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นในคุณภาพ ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจและเป็นก้าวแห่งการพัฒนาที่สำคัญของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และยังแสดงถึงศักยภาพที่จะสามารถแข่งขันกับนานาชาติ ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะการแสดงของไทยออกสู่ตลาดโลก

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิก แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้สร้างปรากฎการณ์สำคัญเมื่อปีที่ผ่านมาด้วยการได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับ TOP 100 ของ QS World University Rankings by Subject 2021 ด้านสาขา Performing Arts เป็นที่แรกในประเทศไทย

และยังได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วแม้อยู่ใน สถาการณ์โรคระบาด โควิด-19 แสดงให้เห็นศักยภาพขององค์กรในเรื่อง Agile และ Resilience เป็นอย่างมาก การพัฒนาทางด้านศิลปะและการแสดงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจใหม่ และรายได้เข้าสู่ประเทศในรูปแบบใหม่

“หลายคนพูดถึง Soft Power ในขณะนี้ แต่อยากให้เข้าใจว่า Soft Power จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการแสดงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เป็น Positive Branding ให้กับประเทศ และที่สำคัญคือต้องมีส่วนของการสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ ต้องมี Economic Impact ให้กับประเทศ ถ้าไม่ได้สร้าง Branding ที่ดีให้กับประเทศก็ยังไม่สามารถเรียกว่า Soft Power ได้ เราเองก็สร้างเรื่อง Soft Power ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งเสริมทางด้าน กีฬา แบดมินตัน กอล์ฟ และอื่นๆ รวมไปถึงการเป็นกรรมการโอลิมปิกสากล ทำให้นานาชาติรับรู้ถึง ความสามารถของคนไทย และสร้างความยอมรับในแง่ดีให้กับประเทศ”

เบื้องหลังสู่ท็อป 50

อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การได้รับอันดับที่ 47 ในครั้งนี้ เกิดจากการสร้างผลงานในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังเป็นสถานศึกษาแรกใน Southeast Asia ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรครบทุกหลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก โดยสถาบัน MusiQuE (Music Quality Enhancement) ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของ สมาคมสถาบันดนตรีของยุโรป (Association of European Conservatories: AEC) และปรับตัวมาเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ด้านการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาดนตรีในภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับผลการประเมินว่าเป็น “สถาบันที่มีความเป็นเลิศเป็นอย่างยิ่ง (Truly Exceptional Institution)”

นอกจากนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้รับเชิญให้เป็น 1 ในสมาชิกของ International Benchmarking Group ซึ่งประกอบด้วย Haute Ecole de Musique de Genève, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์, New England Conservatory, Norwegian Academy of Music, Royal Conservatoire (The Hague), Royal Northern College of Music, Sydney Conservatorium, University of Music and Performing Arts (Graz), Yong Siew Toh Conservatory เมื่อปี พ.ศ. 2562 ทำให้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เริ่มมีคู่เทียบในระดับนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้

สนับสนุนอาชีพดนตรีและบันเทิง

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ดนตรีเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงได้ สมัยก่อนอาจจะคิดว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน พ่อแม่ไม่ค่อยให้การสนับสนุน แต่ทั้งนั้นขอยืนยันว่าไม่ว่าจะสถานการณ์ไหน ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ยังไปต่อได้ คิดว่าเด็กที่มีพรสวรรค์ หรืออยากทำงานในด้านนี้ ควรได้รับการสนับสนุนมากขึ้นไม่ว่าจะผู้ปกครองเอง หรือภาครัฐก็ตาม