จุฬาฯ รับบริจาคมือถือ-แท็บเล็ตเก่า ส่งต่อรีไซเคิลถูกวิธี

ขยะอิเล็กทรอนิกส์

จุฬาฯ กระตุ้นคนไทย ตระหนักปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ จับมือ Total Environmental Solutions ผลักดันโครงการ จุฬาฯ รักษ์โลก เปิดรับบริจาคมือถือ-แท็บเล็ตเก่า นำไปบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ลดผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทุกชิ้นเปลี่ยนเป็นเงิน สมทบกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสาร และของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ และมีความพยายามจากหลายภาคส่วนเพื่อจะแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัด รวมทั้ง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ขณะนี้ยังเป็นร่าง พ.ร.บ. อยู่ เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดการขยะค่อนข้างมาก

รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร
รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร

เช่น ผู้รับซื้อของเก่า อบต. กทม.ฯลฯ รวมถึงมีสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ที่ควรพิจารณา เช่น กระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการกำจัดอย่างไร ชิ้นส่วนต่างๆ ดำเนินการไปทิ้งที่ใด มีการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ฯลฯ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษารายละเอียดอยู่ เพื่อให้ พ.ร.บ. ที่ออกมาสามารถควบคุมระบบบริหารจัดการตรวจสอบได้

จุฬาฯ ดำเนินโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก โดยร่วมกับบริษัท Total Environmental Solutions จำกัด เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งดำเนินการมากว่า 12 ปีแล้ว เป็นตัวอย่างการดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้อง โดยศูนย์ความเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชนและหน่วยงานที่สนใจ ส่งต่อให้บริษัทรับกำจัด และดำเนินการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธี

โดยการบริจาคโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต 1 เครื่อง จะเปลี่ยนเป็นเงิน 10 บาท บริจาคเข้ากองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนับสนุน การวิจัยด้านการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน

“ระยะ 2- 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนเริ่มให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ประกอบกับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการบริจาคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานให้เป็นกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้น มีการรวบรวมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปริมาณมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม”

ทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6-54 ล้านตันต่อปี

รศ.ดร.สุธา กล่าวต่อว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ทั่วโลกมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ 53.6 – 54 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 18 % เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ส่วนในประเทศไทยก็มีปัญหาคล้ายๆ กับในระดับโลก คือมีของเสียอันตรายชุมชน ประกอบด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปร์ยต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉลี่ยประมาณ 4 แสนตันต่อปี และมีการกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องเพียงแค่ร้อยละ 20

ส่วนหนึ่งเกิดการใช้ชีวิตที่มีแนวโน้มการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะเวลาที่สั้นลง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า มีการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ปริมาณ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มากขึ้น

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบ 2 ด้าน คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีโลหะชนิดต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบมีโอกาสที่จะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตัวโลหะต่างๆ ที่อยู่ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตต่อไปได้ หากได้รับการจัดการหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี

อย่างไรก็ตามในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่ประชาชนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะทั่วไป หรือบางครั้งก็ไม่นำไปทิ้ง แต่เก็บไว้ในบ้าน ในปีที่ผ่านมาได้มีการสำรวจประชาชน 2,000 คน พบว่าขยะชิ้นเล็ก

เช่น โทรศัพท์มือถือเมื่อเลิกใช้แล้วเป็นขยะ ส่วนหนึ่งก็จะถูกทิ้งไป แต่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 35-40 ที่เก็บโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้แล้วไว้ในบ้าน ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อหมดอายุก็จะขายไป ยังมีประมาณร้อยละ 15- 20 ที่เก็บไว้ที่บ้าน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทิ้งปะปนไปกับขยะทั่วไป นำไปสู่เส้นทางของการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถนำโทรศัพท์มือถือ และซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ส่งมาที่โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก ชั้น 8 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0-2218-3959