ธ.ก.ส.จัดทัพรับ “ปฏิรูปภาคเกษตร” ปี’61 มุ่งลดต้นทุน กง.-เพิ่มพอร์ต SME-

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับโจทย์ใหญ่จาก “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ให้หาวิธีลดต้นทุนเกษตรกร โดยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่าทั่วไป พร้อมให้นำโมเดลประเทศจีนมาใช้ขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจน และหนี้สินเกษตรกร โดยให้พนักงาน ธ.ก.ส.ปูพรม เก็บข้อมูลเกษตรกรแบบ “รายตัว”

โดย “สมคิด” ชูนโยบาย “ปฏิรูปภาคเกษตร” และพร้อมทุ่มงบประมาณสนับสนุนอย่างเต็มที่ หวังยกระดับภาคเกษตรไทยสู่ “เกษตรสมัยใหม่” ที่สามารถลืมตาอ้าปากได้อย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดเตรียมจัดงบฯ กลางปี 1 แสนล้านบาท โดยประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จะจัดสรรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรดังกล่าว

ขณะที่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ต้องการให้ ธ.ก.ส.สรุปข้อมูลพัฒนาการของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยทุกไตรมาส ว่าแต่ละรายมีีรายได้เพิ่มขึ้นแค่ไหน หรือพ้นความยากจน (รายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาท/ปี) ได้กี่ราย

โจทย์เหล่านี้ “อภิรมย์ สุขประเสริฐ” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้นำมาปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่จะไปสิ้นสุดในปีบัญชี 2563 โดยบอร์ดธนาคารเพิ่งอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ใหม่ที่เน้นสร้าง “ความยั่งยืน” มากขึ้น และมุ่งเป็น “ศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท” (Rural Universal Bank) ที่มีผลิตภัณฑ์การเงินให้เกษตรกรทุกกลุ่ม

“อภิรมย์” บอกว่า ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรไทย 2.เพิ่มพัฒนาบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย 3.บริหารเงินทุนให้สมดุลเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน 4.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล และ 5.พัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนเศรษฐกิจฐานราก สังคมและสิ่งแวดล้อม

“เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ เราต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อมีการนำบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ ปีนี้เรามีความชัดเจนว่า เรามีลูกค้าเกษตรกรรายเล็กและยากจน (small) อยู่ราว 2.6 ล้านคน และรวมกับที่ยังไม่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.อีก 3 แสนคน เราจะต้องดูแลกลุ่มเหล่านี้ เข้าไปพบเกษตรกรทุกราย และมีแผนพัฒนารายบุคคลให้ครบ ภายในปีบัญชี 2561 นี้ (ดูเป้าหมายดำเนินงานปีบัญชี 2561 ตามตาราง) นอกจากนี้ เราจะต้องดูแลกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีมากขึ้นด้วย”

ส่วน “การบ้าน” ให้ลดดอกเบี้ยนั้น “อภิรมย์” บอกว่า ต้องดู 2 องค์ประกอบ คือ ต้นทุนเงิน กับค่าใช้จ่ายดำเนินงาน โดยต้นทุนเงินนั้น ต้องพิจารณาถึงโครงสร้างเงินทุนของธนาคาร ซึ่งทุนในส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้น แม้ส่วนนี้ไม่มีต้นทุน แต่ปัจจุบันมีอยู่แค่กว่า 5.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะที่เงินฝากทั้งหมดมีอยู่ถึง 1.3 ล้านล้านบาท

“เงินฝากก็มีต้นทุนต่างกันไป เพราะมีหลายแบบ รองนายกฯก็ให้มาดูว่ากระทรวงคลังจะช่วยได้อย่างไร เพราะในส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานของเราสูงอยู่แล้ว เพราะเราต้องไปพบลูกค้ารายย่อย แต่ก็พยายามลดต้นทุน อย่างการเปิดใช้แอปพลิเคชั่น “ธ.ก.ส. A-Mobile” ก็จะทำให้ต้นทุนเริ่มลดลงได้ส่วนหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส.ถือว่า “ต่ำที่สุด” ในระบบธนาคาร โดยโครงการต่าง ๆ สินเชื่อราว 5 แสนล้านบาท มีการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 7% ต่อปี ส่วนการให้กู้แก่วิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร อัตราดอกเบี้ยก็ต่ำแค่ 5% ต่อปีเท่านั้น ขณะเดียวกันการที่ ธ.ก.ส.ทำโครงการ “ชำระดีมีคืน” ที่จะคืนดอกเบี้ย 30% ให้แก่เกษตรกรที่มีต้นเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท คำนวณออกมาแล้วเกษตรกรต้องชำระดอกเบี้ยแค่ 4.9% เท่านั้น

“ถ้าจะทำให้ต้นทุนการเงินเราต่ำลง ก็มีอยู่ 2 วิธี คือ 1.กระทรวงคลังเพิ่มทุน หรือ 2.เอาเงินฝากส่วนราชการมาฝากให้มากขึ้น แต่เรื่องนี้ยังต้องหารือกันอีกว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปีบัญชี 2561 จะลด cost of fund (ต้นทุนการเงิน) ให้เหลือที่ 1.5% จากปัจจุบันสูงกว่านี้”

ขณะที่ “สมศักดิ์ กังธีระวัฒน์” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่า ธนาคารได้ทยอยปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ปรับปรุงใหม่มาตั้งแต่ ต.ค. 2560 โดยมีการเพิ่มหน่วยงาน Business Intelligence (BI) ที่จะนำข้อมูล “บิ๊กดาต้า” มาวิเคราะห์ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานอย่างเป็นระบบ กับกลุ่มงาน “ท่องเที่ยวชุมชน”

“เราปรับโครงสร้างเล็กไปแล้ว แต่ในเดือน เม.ย. นี้ จะมีปรับใหญ่ตามมา โดยจะแยกหน่วยงานที่ดูแลโปรดักต์ต่าง ๆ ที่เป็นดิจิทัลออกมา แล้วก็จะปรับส่วนงานที่แต่เดิมฝ่ายสินเชื่อจะดูแลทั้งสินเชื่อกลุ่มและสินเชื่อรายบุคคล ก็จะแยกกัน โดยสินเชื่อกลุ่มก็จะดูทั้งเอสเอ็มอี และสหกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ก็จะมีฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์แยกออกมา เพื่อดูแล Customer Relationship Management (CRM) และ Call Center ซึ่งการปรับโครงสร้างนี้จะนำเข้าบอร์ดภายใน ม.ค.นี้”

“สมศักดิ์” ย้ำว่า การปรับโครงสร้างองค์กร ก็เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% เงินฝากโตปีละ 5% ซึ่งจะมุ่งขยายพอร์ตเอสเอ็มอีให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 30-40% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด หรือคิดเป็น 3-4 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-6% หรือราว 5-6 หมื่นล้านบาท

หวังว่าทั้งหมดนี้จะทำให้ “การปฏิรูปภาคเกษตร” บรรลุผลได้อย่างที่ตั้งใจไว้