สนช.พึ่งบารมีศาลรัฐธรรมนูญ แท็กติกสารพัดกฎหมาย ขยับโรดแมป-

แม้ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

แม้ทั้งวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมกฎหมายทำเนียบรัฐบาล ออกมายืนยันว่า การคว่ำว่าที่ 7 กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลางที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่มีใบสั่ง ไม่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมตามปฏิทิน คสช.คือ ก.พ. 2562

แต่ในโลกการเมืองยังถือว่าไม่มีอะไรแน่นอน

ตามความเห็นของคนการเมืองเก๋าเกมอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า “ถ้าดูตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรกระทบตารางเวลาการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติดูจะมีโอกาสเกิดความขลุกขลักอยู่พอสมควร เลยทำให้หลายคนคิดว่าเป็นความพยายามจะยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป”

ขณะที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่า โดยผลของมันจะเป็นการทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอยู่แล้ว หากเมื่อได้ตัวบุคคลที่มีคุณสมบัติมาแล้ว ถ้าไม่ใช่คนตามสเป็กของผู้มีอำนาจก็อาจจะมีใบสั่งไม่ให้เห็นชอบอีกก็ได้

อย่างไรก็ตาม แม้การคว่ำว่าที่ 7 กกต.จะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโรดแมป แต่อาจเกิด “ผลข้างเคียง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจาก “บุญส่ง น้อยโสภณ” กกต.ที่จะอายุครบ 70 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้ ต้องพ้นตำแหน่งไปแล้ว

มีรายงานจาก กกต.ว่า หลัง กกต.ชุดศุภชัย สมเจริญ ถูก สนช.เซตซีโร่ กกต.สายที่มาจากศาลก็เตรียมหาทางหนีทีไล่ ขอกลับไปช่วยงานศาล เพราะยังมีแรงทำในบั้นปลายข้าราชการตุลาการ

เมื่อว่าที่ กกต.ใหม่ 7 คนถูกคว่ำกลางสภา จึงทำให้สถานการณ์เปลี่ยน…

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับการลาออกของ กกต. “ศุภชัย” ในฐานะหัวขบวน กกต. ไม่ได้ตอบฟันธงว่าไม่มี หรือไม่ใช่ เพียงบอกว่า “ไม่ทราบครับ”

ดังนั้น ระหว่างทางการสรรหา กกต.ชุดใหม่ที่กินเวลานานถึง 6 เดือน จึงยังไม่แน่ชัดว่าจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับ กกต.หรือไม่ ในช่วงที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.อีกรายจะขอไปนั่งเก้าอี้เป็นเลขาธิการ

เรื่องสถานะ กกต.เก่า-ใหม่ ยังคลุมเครือ…โรดแมปเลือกตั้งก็ยังคลุมเครือ

เช่นเดียวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนประนีประนอมในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย คือ สนช. กกต. และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ซึ่งคนการเมืองวงนอกแม่น้ำ 5 สาย ต่างจับตาไปที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มากกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ส่วนใหญ่ตกลงกันได้

ที่ตกลงกันลำบากคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่เกิดการ “งัดข้อ” ระหว่าง สนช.กับ กรธ. สู้กันในเรื่อง ลดกลุ่ม ส.ว. การแบ่งประเภท ส.ว.ออกเป็น 2 ประเภท ให้มาจากองค์กรนิติบุคคลกับสมัครอิสระ และวิธีการเลือกไขว้มาเป็นเลือกตรง

แม้ว่า สนช.อาจกำชัยชนะได้ในชั้นคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย และชนะโหวตในสภาใหญ่ 8 มี.ค.ที่จะถึงนี้

แต่ก่อนหน้านี้มีร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับที่ผ่านการ “ตกลง” ในชั้นคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแล้ว แต่ยังต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด

คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีปมว่า โดย สนช. 34 คน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีให้ประธานและผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่จนครบวาระได้หรือไม่

โดยยื่นในวันที่ 8 ส.ค. 2560 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา 5 ก.ย. 2560 ใช้เวลาเกือบ 30 วัน

และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สนช.ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ การยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้ามสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา และศาลรับไว้พิจารณา 26 ม.ค. โดยศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยจนกระทั่งบัดนี้

หากหลังจากนี้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.อีก ก็จะทำให้เสียเวลาไปอีก 30 วันเป็นอย่างน้อย…

แท็กติกนี้อาจถูกนำมาใช้อีกรอบ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้