นิธิ ภัทรโชค Win Win โมเดลค้าชายแดน-

สัมภาษณ์

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญที่จะคอยรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการด้วยกัน และร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยผลักดันและพัฒนาให้อุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นิธิ ภัทรโชค” รองประธาน ส.อ.ท. ซึ่งรับผิดชอบงานสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ งานโลจิสติกส์ งานส่งเสริมการค้าชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ถึงทิศทาง แผนงาน ที่จะช่วยผู้ประกอบการขับเคลื่อนต่อไป

Q : 1 ปีที่เข้ามาทำอะไรไปบ้าง

เริ่มทำแผนระยะสั้นที่ทำให้เกิดผลเร็ว เช่น 1. การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การค้าชายแดน 2.การสำรวจเส้นทางทำให้ผู้ค้าขาย และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics Service Provider-LSP) มีความมั่นใจที่จะไปทำธุรกิจ และ 3.การดูงาน จัดอบรมสัมมนา เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถทำธุรกิจระหว่างกันได้

Q : แผนระยะยาวที่วางไว้

แผนระยะยาวเป็นเรื่องนโยบายการค้าจะทำอย่างไรให้เพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดความยั่งยืน การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นและยั่งยืน ต้องมาพิจารณาว่า อุปสรรคคืออะไร ทางด้านโครงสร้างหรือไม่ เรื่องความสะดวก เช่น ยังมีปัญหาเรื่องพิธีการศุลกากรกฎหมาย กฎระเบียบทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และอีกประการ คือ การพัฒนาคนด้านโลจิสติกส์ ปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนภาคธุรกิจต้องการประมาณ 30,000-40,000 คน แต่ตอนนี้ผลิตได้หลักพันคน ทั้งนี้ การพัฒนาคนต้องพัฒนาทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ

Q : ส.อ.ท.มีแผนเปิดหลักสูตรเอง

ในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2560 กำลังจะเปิดหลักสูตร “นักการค้าอุตสาหกรรมชายแดนรุ่นใหม่” มีระยะเวลาฝึกอบรม 5 วัน โดยเปิดรับสมัครรุ่นละ 30 คน เริ่มที่ประเทศเมียนมาก่อน โดยจะนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ อายุประมาณ 30-40 ปี จากทั้งฝั่งไทยและเมียนมา เข้ามาอบรมเรียนรู้ พัฒนา เวิร์กช็อปด้วยกัน ทั้งเรื่องธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ และวัฒนธรรม เมื่อรู้จักกัน เป็นเพื่อนกันแล้ว ค่อยพัฒนาไปสู่การทำธุรกิจการค้าร่วมกันในอนาคต โครงการนี้จะให้ความรู้อย่างจริงจัง ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะมีการเดินทางไปเวิร์กช็อปด้วย สำหรับนักธุรกิจทั่วไปที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเรามีโครงการร่วมกับสภาธุรกิจไทย-เมียนมา นำคนที่มีประสบการณ์ ความรู้เรื่องการลงทุน การค้าขายในประเทศเมียนมามาให้คำแนะนำ จับคู่ธุรกิจผู้ซื้อกับซัพพลายเออร์ในเมียนมา โครงการลักษณะดังกล่าวนี้ต้องทำต่อเนื่องจะเกิดพัฒนาการซื้อขายต่อไป

Q : การผลักดันการค้าชายแดน

การค้าชายแดนเป็นสิ่งที่ช่วยเศรษฐกิจไทย เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตมาก ถ้าประเทศไทยไม่ทำให้มีการค้าขายได้สะดวก ไม่ทำเรื่องโลจิสติกส์ให้คล่องตัว การค้าจะไม่เติบโต จะเห็นได้จากบางด่านมีการค้าติดลบทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเติบโต ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นที่ต้องการ เป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้าน และเราอยู่ใกล้ จริง ๆ ถ้าประเทศเพื่อนบ้านเติบโต 5% การค้าขายของไทยควรจะเติบโต 5-7% คือควรเติบโตมากกว่า เพราะฉะนั้นการที่การค้าชายแดนไม่ขยายตัวและติดลบขึ้นมา แสดงว่าต้องมีอุปสรรคอะไรบางส่วนที่เราต้องเร่งแก้ ไม่อย่างนั้นไทยจะเสียโอกาสไป เช่น เวลาในการเปิด-ปิดด่าน บางด่านต้องการให้เปิด-ปิดเวลาเท่ากัน ตอนนี้พยายามจะเข้าไปช่วยผลักดันให้เกิดความสะดวกในการทำการค้า ผมคิดว่าภาครัฐเข้าใจปัญหานี้ เรื่องโลจิสติกส์ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าสะดวกไปได้ ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษถือเป็นจุดที่จะดึงให้การค้าชายแดนขยายตัว

Q : การเปิดเสรีขนส่งระหว่างประเทศ

มีการเซ็น MOU ไปแล้ว ยกตัวอย่างเรื่องการแลกเปลี่ยนจำนวนรถบรรทุกระหว่างกันไปได้พอสมควร ยกเว้นที่เมียนมายังไม่พร้อม ยังไม่อนุญาตให้รถบรรทุกไทยวิ่งเข้าไปในเมียนมาได้ จึงเริ่มทดลองด้วยการวิ่งข้ามไปเมียนมาถอดหางเอาไว้ แล้วฝั่งเมียนมาจะเอาหัวรถมาลากไปส่งยังปลายทาง อย่างมากรถบรรทุกของไทยข้ามไปได้แค่เมียวดี แต่ไม่ให้ทะลุเข้าไปมากกว่านั้น เพราะเมียนมาเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ เพราะฉะนั้นมีความเชี่ยวชาญเรื่องการขนส่งน้อยกว่าผู้ประกอบการไทย พอเปิดประเทศกลายเป็นผู้ประกอบการคนไทยเข้าไปรับขนส่งหมด จึงไม่ยอมให้เข้าไป ดังนั้นทางออกตรงนี้ต้องเริ่มจากจุดที่ Win Win ทั้ง 2 ประเทศก่อน หากคนทำธุรกิจในเมียนมาเข้มแข็งขึ้น ก็จะง่ายในการเจรจาที่จะวิ่งทะลุไปได้ บางอย่างต้องใจเย็น เริ่มจาก Win Win และนำไปสู่การเปิดเสรีที่แท้จริงให้เกิดขึ้น อันนี้ต้องทำเป็นสเต็ปไป ผมว่าตรงนี้สำคัญ

Q : เขตเศรษฐกิจชายแดนไม่เวิร์ก

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ภาครัฐประกาศมีศักยภาพในระยะยาว ถ้าเกิดเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านเติบโตจะมีศักยภาพ แต่ต้องหาจุดที่เหมาะสม หรือว่าจุดที่เกิดแล้ว Win Win จริง ๆ ทุกประเทศเพื่อนบ้านก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องดูว่า ใครลงทุนฝั่งไหนแล้วจะได้อะไร จริง ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากจะดีไซน์ให้ดี เช่น สมมุติค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านถูก ขณะที่ฝั่งไทยมีเทคโนโลยี ก็ส่งชิ้นส่วนที่เป็นไฮเทคโนโลยี ไฮแวลู แล้วนำไปประกอบที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และขนกลับมาส่งออกที่ประเทศไทยได้ เพราะเรามีท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีความได้เปรียบกว่าที่จะไปส่งออกในทางทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องใช้จุดแข็งของแต่ละฝั่งทำให้เกิดได้และยั่งยืน ไทยอย่าไปทำทุกอย่างคนเดียวหมด บางอย่างผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ บางอย่างแข่งขันไม่ได้ อย่างการทำ EEC เป็นการรวมจุดแข็งทั้งหมดเข้ามา และต่อยอด New S-curve เราควรใช้โมเดลตรงนี้ไปสร้างที่อื่นต่อ สุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผลที่ได้จะร่วมกัน อย่างสหภาพยุโรปใช้เวลาหลายปี ขอให้มีกระบวนการที่ต่อเนื่องมีฟีดแบ็ก และพัฒนาไป ทุกประเทศที่เข้ากระบวนการนี้ได้รับประโยชน์

Q : รัฐบาลต้องปรับวิธีคิด

อาจจะต้องปรับโมเดลใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา ให้เกิด Win Win ขึ้น ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้านจะเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างไร ส่วนหน้าที่ ส.อ.ท.ไม่ใช่ฟังปัญหามาอย่างเดียวแล้วไปบ่นกับหน่วยงานภาครัฐ แต่เราจะมากลั่นกรอง วิเคราะห์หาทางออก นำมาจัดลำดับความสำคัญไปเสนอรัฐบาล เป็นบทบาทที่เราทำได้ เพราะไม่อย่างนั้นรัฐบาลอาจจะไม่ค่อยอยากฟังเพราะฟังมาเยอะแล้ว ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร โมเดลที่การทำงานที่เวิร์กต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย เอกชน รัฐบาล และภาคการศึกษา ต้องเวิร์กด้วยกัน เพราะเอกชนไม่ได้เก่งหมด เอกชนรู้ปัญหา รู้ว่าจะทำธุรกิจอย่างไร รัฐบาลรู้ว่าจะสนับสนุนเรื่องอะไร จะแก้กฎหมายได้ แต่ไม่รู้เรื่องเทคนิค ต้องมีคนเข้าไปศึกษา ให้ความเห็นเรื่องวิชาการ จัดลำดับความสำคัญ แต่ถ้า 3 ฝ่ายนี้มาร่วมมือกันอย่างจริงจัง น่าจะเป็นทางออกที่ดี

Q : นโยบายที่จะสร้างประโยชน์ต่อเชื่อมกับ One Belt, One Road ของจีน

One Belt, One Road จะพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งในแถบนี้ไป การขนส่งของโลกจะเปลี่ยน เราต้องติดตามและต้องเชื่อมต่อ โมเดลของจีนที่ทำมา จีนพยายามเชื่อมโยงการค้า พอเกิดการเชื่อมโยงเป็น Win Win จีนเริ่มเข้าไปในลาว ตอนแรก ๆ ทำให้มีการมองเรื่องใครได้ผลประโยชน์การค้ามากน้อยที่ต่างกัน มีการถกเถียงกัน แต่ตอนนี้ลงตัว เหมือนไทยจะเข้าไปต้องดูผลประโยชน์ตรงนี้ให้ลงตัวทั้งสองฝ่ายก็ได้ จุดสำคัญที่เรามองต่อไป เป็นโลจิสติกส์สำหรับอีคอมเมิร์ซ คือต่อไปตลาดจีนใหญ่ ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใหญ่ เพราะฉะนั้นเรื่องอีคอมเมิร์ซหลีกไม่พ้น การค้าขายมาทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น การขนส่งสินค้าจากตลาดอีคอมเมิร์ซ ต้องมีระบบใหม่มารองรับระบบขนส่งย่อยระหว่างอาเซียนกับจีน