“ชัยนาท” เสริมแกร่ง ศก.ฐานราก ชูผ้าทอ-ท่องเที่ยวโดยชุมชน-

พื้นที่ตำบล “กุดจอก” และตำบล “เนินขาม” จังหวัดชัยนาท มีจุดแข็งเป็นแหล่งวัฒนธรรมของชุมชนลาวครั่งและลาวเวียง ปัจจุบันถือเป็นชุมชนเป้าหมายที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันเข้ามาส่งเสริมอาชีพในหลายด้าน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก 1 ใน 12 นโยบายประชารัฐของรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

“อนุรักษ์ เรืองรอบ” ผู้จัดการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากถือเป็นการทำงานภาพรวมขนาดใหญ่ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่เคยพึ่งพาการส่งออกไปยังต่างประเทศประมาณ 70% ให้เป็นการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภายในประเทศ โดย พอช.มีส่วนช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ดังกล่าวในฐานะคณะทำงาน ผ่านเครือข่ายพื้นที่กับสภาองค์กรชุมชนกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ปฏิบัติการกว่า 500 ตำบล กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป้าหมายขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก คือ การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยเชื่อมโยงกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีของแต่ละจังหวัด

ส่วนการจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดชัยนาทนับเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งทำให้คนในชุมชนมองเห็นการจัดการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำและนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ด้าน “เอกราช เอี่ยมเอื้อยุทธ” พัฒนาการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทางจังหวัดชัยนาทก็ได้มีการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีชัยนาท (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 โดยมีการระดมทุนวงเงิน 4 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเกษตร โดยจะมีการพัฒนาและฟื้นฟูสวนส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดชัยนาท

เนื่องจากพื้นที่ปลูกส้มโอประมาณ 2,500 ไร่ ถูกน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ได้รับความเสียหายไปประมาณพันกว่าไร่ ปัจจุบันความต้องการของตลาดมีมาก แต่กำลังการผลิตมีน้อย ฉะนั้นจำเป็นต้องมีแผนฟื้นฟูให้ได้ปีละประมาณ 50 ไร่

2) ด้านการแปรรูป มี 2 โครงการ คือ 1.การนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากในจังหวัดชัยนาทคือผักตบชวา มาแปรรูปเป็นเครื่องจักสาน โดยเฉพาะในอำเภอสรรพยาและอำเภอหนองมะโมง บริษัทประชารัฐรักสามัคคีชัยนาทฯ ได้เข้ามาส่งเสริมรูปแบบ ความรู้ และการตลาดให้กลุ่มชาวบ้าน และ 2.การส่งเสริมผ้าทอให้เป็นสินค้าโอท็อปประจำจังหวัด ได้แก่ ผ้าทอของชาวลาวครั่งในอำเภอหนองมะโมง และผ้าทอตำบลเนินขามของชาวลาวเวียง และ 3) ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีแผนที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดผ้าทอถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดชัยนาท โดยเฉพาะผ้าทอจากตำบลเนินขาม ที่บริษัทประชารัฐรักสามัคคีชัยนาทฯ ได้เข้าไปส่งเสริมและคิดค้นลายทอผ้าขึ้นมาใหม่ เรียกว่า “ผ้าทอลายช่อใบมะขาม” เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเนินขามและจังหวัดชัยนาท และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้าทอ ราคาจำหน่ายผืนละหลักพันถึงหลักแสนบาท ซึ่งได้ยื่นจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้ตลาดตอบรับดีมาก จนกำลังการผลิตไม่เพียงพอ เพราะยอดการสั่งซื้อ/สั่งจองผ้าทอเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทางจังหวัดจึงมีแนวคิดผลักดันให้ผ้าทอลายช่อใบมะขามเป็นสินค้าโดดเด่นจังหวัด และได้เตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น โดยมีการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักการทอผ้าลายช่อใบมะขาม รวมไปถึงการต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย

ขณะเดียวกันชัยนาทก็มียุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การแปรรูป การพัฒนาการท่องเที่ยว และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี)

อีกทั้งมีงบประมาณที่มาส่งเสริมกิจกรรมภายในจังหวัด ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดชัยนาทประสบความสำเร็จได้ด้วยดี ประชาชนมีอาชีพที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง

ชัยนาทวันนี้จึงไม่ได้มีแค่ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา แต่ยังมีการท่องเที่ยวโดยชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่น ๆ อีกหลากหลายชนิด รวมถึงการคิดค้นผ้าทอลายช่อใบมะขาม สินค้าแห่งภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเนินขามและจังหวัดชัยนาท