Amundi จัดพอร์ตลงทุน 5 แนว-

คอลัมน์ Look Around

ความกล้าในการก้าวข้ามมาเปิดขาย “กองทุนรวม” ของค่ายอื่น ๆ ของธนาคารทหารไทย (TMB) ที่เป็นแห่งแรกเมื่อหลายปีก่อน ถือเป็นการสร้างความแตกต่างจากแบงก์ค่ายอื่น ๆ ที่ยังยึดติดกับการเน้นขายแต่กองทุนของเครือตัวเอง

ทำให้วันนี้ “ทีเอ็มบี” สามารถติดลมบนของลูกค้าที่มาใช้บริการแบงก์แห่งนี้ไม่น้อยทีเดียว เพราะลูกค้าได้รู้สึกถึงเสรีภาพในการเลือกลงทุนสินค้าที่หลากหลายของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ร่วมเป็นพันธมิตรมากถึง 7-8 แห่ง ซึ่งเป็นการทลายข้อจำกัดการถูกบังคับเลือกของูกค้า และทำให้ลูกค้ารู้สึกดีที่มีโอกาสเลือกรับผลตอบแทนและระดับความเสี่ยง

“เรียกได้ว่าเรารวบรวมกองทุนรวมดี ๆ ผลตอบแทนติดอันดับทุกกอง มาไว้ที่ทีเอ็มบี ที่เดียวก็ว่าได้” นี่คือคำกล่าวของนางมารี แรมลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ทีเอ็มบี

ทีเอ็มบีไม่ได้หยุดแค่นั้น ล่าสุดประกาศยกระดับบริการ “ที่ปรึกษาการลงทุน” หรือ “TMB Advisory” โดยดึงมือโปรระดับโลก “Amundi” ที่เป็นบริษัทจัดการลงทุนรายใหญ่ในฝรั่งเศศ มาเพิ่มคุณภาพบริการแก่ลูกค้ารับยุคดิจิทัล ด้วยการออกแบบพอร์ตการลงทุนตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย

นางมารีบอกว่า Amundi มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเป็นอันดับ 1 ในยุโรป มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ Amundi จะเข้ามาช่วยออกแบบโมเดลพอร์ตการลงทุน 5 รูปแบบ เพื่อแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าตามความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ ตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำไปจนถึงรับความเสี่ยงได้สูง ดังนี้

แบบแรก การจัดพอร์ต Risk Averse คือ ไม่มีการลงทุนในหุ้น แต่เน้นคุ้มครองเงินต้น ดังนั้นจะลงทุนในตราสารหนี้ไทยและตราสารหนี้ต่างประเทศ 100% แบบที่ 2 จัดพอร์ตแบบ Conservative จะลงทุนในหุ้น 20% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือลงทุนตราสารหนี้ 80% แบบที่ 3 พอร์ต Balanced จะลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้อีก 50% รูปแบบที่ 4 พอร์ต Advanced ลงทุนในหุ้น 70% และตราสารหนี้อีก 30% และแบบที่ 5 จะจัดพอร์ตแบบ Aggressive คือ ลงทุนในหุ้น 100% เหมาะสำหรับผู้รับความเสี่ยงได้สูง ทั้งนี้ ทั้ง 5 รูปแบบจะเน้นจัดสัดส่วนการลงทุนเพื่อระยะยาว แต่ขณะเดียวกัน จะมีการ “แนะนำ” ปรับพอร์ตการลงทุนให้ทุกเดือน เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาดและควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้อยู่ในกรอบที่วางไว้ ที่สำคัญ บริการนี้จะไม่มีข้อผูกมัดและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ปัจจุบันทีเอ็มบีมีลูกค้าลงทุนในกองทุนรวมผ่านแบงก์ จำนวนกว่า 2.62 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายย่อย สัดส่วน 65% ส่วนลูกค้ารายใหญ่ 35% และล่าสุดมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม (AUM) อยู่ที่ 2.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากสิ้นปีก่อน ถือว่าเติบโตดีกว่าอุตสาหกรรมที่โต 6%

สูตรไส้ใน 5 แนว ของ Amundi จะเสริมแกร่งการลงทุนให้ลูกค้าแต่ละคนได้แค่ไหน คงต้องมาใช้บริการ TMB Advisory ว่า จะเพิ่มประสบการณ์ใหม่การลงทุนอีกด้านได้ตอบโจทย์ตรงใจแค่ไหน ด้วยตัวเองดูแล้ว