บาทอ่อนค่า หลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด

เงินบาท ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่า หลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (10/8) ที่ระดับ 35.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/8) ที่ระดับ 35.39/41 และปรับตัวอ่อนค่าในช่วงบ่ายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 0.50% ต่อปี

โดยนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยในที่ประชุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ และจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมามีความจำเป็นลดลง โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ต่อปี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยประเมินว่าจะไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ เลขานุการ กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ตามการผ่อนคลายนโยบายเดินทางระหว่างประเทศ และความกังวลในการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนที่ปรับดีขึ้น

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้เดิม โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับสภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนสูง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยง ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักหลังจากมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอาจชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐในคืนนี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือนกรกฎาคมของสหรัฐจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 8.7% เมื่อเทียบกับ 9.1% ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.29-35.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.55/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (10/8) ที่ระดับ 1.0203/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/8) ที่ระดับ 1.0235/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยง ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0203-1.0230 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0223/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (10/8) ที่ระดับ 135.24/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (9/8) ที่ระดับ 134.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยง ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.84-135.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่จะมีการรายงานในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ก.ค.

สำหรับอัตราความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.5/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.5/2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ