รัฐดึง 30 หน่วยงานลงขันตั้งองค์กรบริหาร “ดิจิทัลไอดี”

รัฐ-เอกชนร่วมลงขันจัดตั้งหน่วยงานดูแล Digital ID Platform ต่อยอดการทำธุรกรรมการเงินง่าย อาทิ เปิดบัญชีออนไลน์ ยื่นกู้ออนไลน์ ด้านกระทรวงดิจิทัลฯเผยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ระบุเปิดให้เจ้าตัวเป็นคนยื่นคำร้องเพื่อทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินเท่านั้น

นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า จากการประชุมรอบล่าสุดของเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการหารือเรื่องระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital ID Platform) โดยได้ข้อสรุปในการจัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริหารระบบนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือในคณะกรรมการรวมกว่า 30 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สภาอุตสาหกรรม เครดิตบูโร สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA) บริษัทโทรคมนาคมและภาครัฐ ก็มีทั้งผู้กำกับภาคการเงิน เป็นต้น

“หลังจากการประชุมรอบนี้ จะมีการลงขันเงินมาตั้งองค์กรดูแล ซึ่งมาจากบริษัทหลักทรัพย์, ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) และอื่น ๆ ซึ่งได้มีการวางรายละเอียดข้อกำหนดการจัดตั้งองค์กรแล้วเสร็จเมื่อ ธ.ค. ส่วนเฟสแรกของระบบจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานหลายแห่งที่ใช้เพื่อการพิสูจน์ตัวตนในการทำธุรกรรม ซึ่งในระยะแรกคาดว่าจะส่งผลดีให้ธนาคารสามารถเพิ่มความสะดวกลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การเปิดบัญชีออนไลน์ การขอสินเชื่อออนไลน์” นายอนุชิตกล่าว

แหล่งข่าวสถาบันการเงินรายหนึ่ง กล่าวว่า การจัดตั้งหน่วยงานดูแลดิจิทัลไอดี แพลตฟอร์ม จะมีสัดส่วนการลงทุนจากสมาคมธนาคารไทยถือหุ้น 40% บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) สัดส่วน 20% และอีก 40% จะมีหน่วยงาน 4 แห่ง ได้แก่ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดิจิทัลไอดี แพลตฟอร์ม เป็นความร่วมมือของกระทรวงการคลังกับดีอี โดยมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นคณะทำงาน ซึ่งล่าสุดมีการวางกรอบการทำงาน ว่าจะจัดทำระบบให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2561 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดูแลแฟลตฟอร์มนี้

“ดิจิทัลไอดี แพลตฟอร์มที่ทำจะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเป็นการตรวจสอบข้อมูลจากผู้ที่ยื่นร้องขอทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน ที่ปกติต้องเชื่อมโยงและขอข้อมูลมาทำธุรกรรมอยู่แล้ว” นายพิเชฐกล่าว