ธนารักษ์เผยโอน 3 สนามบินให้ ทอท.บริหารเป็นไปตามกฎหมายกรมท่าอากาศยาน ไม่ต้องเปิดประมูลตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ชี้ฝ่าย ทอท.ต้องมาทำสัญญาเช่าที่กับกรม เล็งนัดทำสัญญาหลังโอนกิจการแล้วเสร็จ
วันที่ 2 กันยายน 2565 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่ากรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้โอนกิจการของ 3 สนามบิน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี ไปให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เป็นผู้บริหาร โดยไม่ผ่านการเปิดประมูลเช่นเดียวกันกับโครงการอื่นของกรมธนารักษ์นั้น
เนื่องจากโครงการนี้ ไม่ใช่โครงการที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ แต่อยู่ในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน ดังนั้น แนวทางการโอนกิจการจึงเป็นไปตามกฎหมายของกรมท่าอากาศยาน
อย่างไรก็ดี ในส่วนของที่ดินและทรัพย์สินของ 3 สนามบินนั้น ถือว่า เป็นทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ดังนั้น เมื่อกรมท่าอากาศยานโอนการบริหารจัดการไปให้ ทอท.ดูแลแล้ว แต่ไม่ได้โอนที่ดินไปด้วย ดังนั้น ทางทอท.จะต้องเข้าสู่กระบวนการเช่าที่ดินหรือเช่าที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ ซึ่งจะเป็นกรณีเดียวกันกับทอท.เช่าที่ราชพัสดุของสนามบินสุวรรณภูมิ
“กรมธนารักษ์ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ 3 สนามบิน แต่เป็นความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน ถ้าเขาจะให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจรายใดเข้ามาบริหาร ก็ขึ้นอยู่กับทางกรมท่าอากาศยาน แต่เราจะดูแลเฉพาะเรื่องการเช่าที่ดิน ซึ่งฉะนั้น เมื่อเป็นบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจมาเช่าที่ ก็ต้องทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับกรม”
พร้อมกันนี้ เข้าใจว่า ทอท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เอกชนเหมือนกันกับกรณีที่กรมเปิดให้มีการประมูลโครงการท่อน้ำภาคตะวันออก ทางกรมท่าอากาศยานจึงไม่จำเป็นต้องเปิดประมูล แต่ไม่ว่าจะรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่เข้าใช้ที่ราชพัสดุ จะต้องมาดำเนินการเช่าที่กับกรมฯตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ
ทั้งนี้ เมื่อมีการโอนกิจการกันเรียบร้อยแล้ว ทางกรมท่าอากาศยานจะต้องแจ้งมายังกรมธนารักษ์ เพื่อให้เข้าไปดำเนินการทำสัญญาเช่าที่กับ ทอท.ซึ่งในส่วนของค่าเช่านั้น ก็จะมีอัตราการคิดเหมือนกันกับการเช่าที่ราชพัสดุสนามบินอื่น ๆ กล่าวคือ มีอัตรา Fix rate และ Revenue Sharing ตามผลประกอบการ ปัจจุบันรายได้กว่า 50% ของกรมมาจากการเช่าที่ราชพัสดุจากการบริหารสนามบินต่าง ๆ ของ ทอท.