ก.ล.ต.กางแผนงานปีจอ ปลุกพลัง “เสือ” กำกับตลาดทุนไทย

หลายปีที่ผ่านมา หลังมีการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลบคำปรามาสว่า เป็น “เสือกระดาษ” ของวงการตลาดทุนได้ ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น “เสือ” ที่น่าเกรงขาม เป็นที่พึ่งพาของคนในแวดวงการลงทุน ก.ล.ต.จึงได้มีการประกาศแผนงานและยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งไม่ใช่เพียงเสริมเขี้ยวเล็บให้ตัวเอง แต่ยังจะสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดทุนในปีนี้อย่างน่าสนใจด้วย

โดยในงานสัมมนา “SEC Conference 2018 : Capital Market for All” เลขาธิการ ก.ล.ต. “รพี สุจริตกุล” ได้ประกาศแผนงานปี 2561 ซึ่งมี 3 เรื่องหลักที่จะเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1.การทำให้คนทั่วไปเข้าถึงตลาดทุน โดย ก.ล.ต.จะมีการสร้างความเข้าใจกับบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุน โดยแยก “การแนะนำ” ออกจาก “การขายสินค้าด้านการลงทุนของบริษัท” เพื่อไม่ให้กระบวนการให้ความรู้ถูกครอบงำโดยกระบวนการขาย

2.การใช้ตลาดทุนในการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ โดย ก.ล.ต.จะมีกฎเกณฑ์เพื่อให้ประชาชนแยกแยะได้ว่าการระดมทุนแบบใดเป็นการฉ้อโกง และการระดมทุนแบบใดเป็นการระดมทุนที่ถูกต้อง และ 3.การมีส่วนร่วมหรือช่วยประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา, สปป.ลาว, พม่า และเวียดนาม) เช่น การจัดตั้งกระดาน CLMV เป็นต้น

ส่วนการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย จะยังเน้นองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ การบังคับใช้กฎหมาย ความมีวินัยของบริษัทและผู้บริหาร และการสร้างแรงผลักดันของผู้ร่วมตลาด โดย ก.ล.ต.จะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และบริษัทภายใต้การกำกับดูแลให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกัน

ขณะที่การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯใน 4 ประเด็นหลัก ๆ อาทิ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF), ความอิสระของ บลจ.ต่อบริษัทแม่, ความคาดหวังต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม (ETP) นั้น คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในกลางเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.นี้

ไม่เพียงเท่านี้ ก.ล.ต.ยังพยายามก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ ในลักษณะการระดมทุนผ่าน initial coin offering (ICO) หรือการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลด้วย โดย “ทิพยสุดา ถาวรามร” รองเลขาธิการ ก.ล.ต. แจกแจงว่า เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ICO จะมีความชัดเจนช่วงไตรมาส 1/2561 หลังใกล้จะครบกำหนดเวลาเปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 22 ม.ค.นี้

พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างแก้หลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนทางอ้อม (backdoor listing) โดย ก.ล.ต.จะดึงอำนาจกลับมาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเอง จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) เป็นผู้อนุมัติ คาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในครึ่งแรกปีนี้

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้กางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2561-2563) โดยจะครอบคลุม 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินเข้าถึงประชาชน รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีฟินเทคเพื่อตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน

2.สร้างโอกาสในการระดมทุนสำหรับธุรกิจ SMEs และสตาร์ตอัพ พร้อมขจัดอุปสรรคและลดต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงส่งเสริมการระดมทุนของประเทศเพื่อนบ้าน

3.สร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยการยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานรองรับการประกอบธุรกิจแบบดิจิทัล 4.รู้เท่าทันความเสี่ยงและกำกับดูแลตรงจุด และ 5.ยกระดับมาตรฐานการออกมาตรการการกำกับดูแล โดยการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดทุนให้มีเท่าที่จำเป็น

คงต้องจับตากันต่อไปว่า แผนระยะสั้น และระยะยาวของ ก.ล.ต. จะปลุกพลังความเป็นเสือให้แก่องค์การ และตลาดทุนไทยได้อย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ !!