สมาคมธนาคารถกแก้ปัญหา “แบงก์ล่ม” KBANK-BBL อัดงบพัฒนาระบบ

แบงก์ล่ม

สมาคมธนาคารไทย เรียกถกผู้บริหารด้านไอทีทุกแบงก์ หารือแก้ปัญหาระบบล่ม หลังล่าสุด “ทีทีบี” ประสบปัญหาขัดข้องหนัก ยันระบบกลางไม่มีปัญหา “ITMX” รองรับธุรกรรมสูง 1 หมื่นรายการ/วินาที 

ขณะที่ 2 แบงก์ใหญ่ยันลงทุนพัฒนาระบบต่อเนื่อง “กสิกรไทย” ลุยลงทุนเพิ่มศักยภาพคอร์แบงกิ้ง ป้องกันระบบสะดุดกระทบ K PLUS ฟาก “แบงก์กรุงเทพ” ทุ่มหลายร้อยล้านบาทปรับปรุงโมบายแบงกิ้งต่อเนื่อง

จากกรณีระบบโมบายแบงกิ้งของธนาคารทหารไทยธนชาต(ทีทีบี)ประสบปัญหาขัดข้องหลายวัน ซึ่งแบงก์ได้ประกาศออกมาตรการเยียวยาลูกค้านั้น

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ของทุกแบงก์ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาระบบแบงก์ที่มีปัญหาขัดข้อง

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากระบบกลางของบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX) เนื่องจากปัจจุบันระบบกลางรองรับธุรกรรมได้ 8,000-10,000 รายการต่อวินาที แต่ธุรกรรมของธนาคารเกิดขึ้นจริงเพียง 1,500-1,700 รายการต่อวินาที จึงถือว่าเพียงพอ

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับสมาคมได้มีการหารือร่วมกัน โดย ธปท.ได้ให้ธนาคารทุกแห่งตรวจสอบระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ 4-5 แห่ง ที่ต้องรัดกุม เนื่องจากมีปริมาณธุรกรรมไหลเวียนค่อนข้างสูง

“ธปท.กำชับให้ธนาคารว่า ต้องมั่นใจว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงระบบ หรือมีการใส่โปรแกรมใหม่จะต้องไม่สะดุด หรือเกิดปัญหา ซึ่ง ธปท.จะมีหลักเกณฑ์และมาตรการปฏิบัติให้ธนาคารทำอยู่แล้ว ทางเทคนิค

หรือความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรม (Capacity) ที่เพิ่มขึ้นในทุกเดือน หรือกรณีที่มีการเปลี่ยนโปรแกรมใหม่ให้ธนาคารตรวจสอบให้ดี รวมถึงการเชื่อมต่อกับพันธมิตร (Partner) จะต้องเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่สะดุด”

ดร.พิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารมีการลงทุนและขยาย Capacity ระบบอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใช้บริการทางด้านดิจิทัลมากขึ้น และเพิ่มขึ้นรวดเร็ว

และเชื่อว่าทุกธนาคาร รวมถึง ITMX ก็จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการรองรับ เพราะหากความสามารถในการรองรับไม่เพียงพอ อาจทำให้ระบบหรือข้อต่อเกิดสะดุดได้

ทั้งนี้ ปัจจุบัน capacity ของกสิกรไทยรองรับได้ 2 เท่าของปริมาณธุรกรรมสูงสุด (พีก) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นไปตามข้อตกลงไว้ และภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า ธนาคารมีแผนเพิ่มศักยภาพในส่วน Core Banking

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้อต่อสะดุด เพราะหาก Core Banking เกิดหน่วงขึ้นมา อาจจะฉุดบริการ K PLUS ไปด้วยได้ ซึ่ง K PLUS มีบริการมากกว่า 500 บริการ และมีผู้ใช้บริการกว่า 19-20 ล้านคน

“ตอนนี้ K PLUS มี capacity เหลือเพียงพอรองรับได้อีกมาก เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากไม่มีเหตุการณ์พิเศษ แต่ธนาคารไม่นิ่งนอนใจ มีแผนการเพิ่มศักยภาพ และทุกแบงก์ก็ต้องเพิ่ม เพราะใครเพิ่มไม่ทันมันจะบีบระบบไปด้วย

แม้แต่ ITMX ก็พยายามหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเติมเต็ม โดยปัจจุบัน ITMX มีเสถียรภาพ หากมีปัญหาระหว่างธนาคารจะมีการสับสวิตช์ และ ธปท.เองก็มีการตรวจสอบเสมอ”

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารมีการหารือและพูดคุยกับ ธปท.อย่างต่อเนื่อง โดย ธปท.ให้ทุกธนาคารปรับปรุงและพัฒนาระบบโมบายแบงกิ้งให้มีประสิทธิภาพ

เพราะกลายเป็นช่องทางหลักที่ลูกค้าใช้บริการ และมีปริมาณธุรกรรมเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงวันสิ้นเดือน วันที่มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือมีการจัดโปรโมชั่นของอีคอมเมิร์ซ เช่น แคมเปญวันที่ 9 เดือน 9 เป็นต้น จะเป็นวันที่ธุรกรรมจะพีก

“ที่ผ่านมาธนาคารลงทุนและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง และจะมีเครื่องมือที่คอยติดตาม หากกรณีที่ปริมาณธุรกรรมใกล้แตะเพดานที่ธนาคารกำหนดไว้ (Peak Day) จะเข้าไปเร่งแก้ไข หรือการเพิ่ม Capacity ไว้ล่วงหน้าทันที

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นเหตุการณ์ใหม่ ทำให้ระบบเกิดขัดข้องหรือสะดุดได้ หรือปัญหาเกิดจากพันธมิตรภายนอกที่ธนาคารเชื่อมต่อได้เช่นกัน”

สำหรับความร่วมมือกับ ธปท.นั้น โดยปกติธนาคารส่งรายงานทุกไตรมาส เช่น หากมีการปิดระบบนานกี่ชั่วโมง จะมีการประกาศบนเว็บไซต์ หรือกรณีระบบล่มนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ธนาคารจะต้องชี้แจงทันทีว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

รวมถึง ธปท.จะมีการตรวจสอบเรื่องไอทีโดยเฉพาะ โดยดูแผนทางด้านดิจิทัล กลยุทธ์ ทั้งในเชิงเทคนิค Capacity การให้บริการ เป็นต้น

“ธปท.ให้ความเป็นห่วงและคอยติดตามทุกธนาคาร ไม่เฉพาะแบงก์ที่มีปัญหา เพราะโมบายแบงกิ้งกลายมาเป็นช่องทางหลักที่ลูกค้าใช้บริการ ซึ่งเราเองก็มีการพัฒนาและลงทุนระบบหลักหลายร้อยล้านบาทต่อเนื่อง มีเครื่องมือคอยติดตามแบบ end to end”

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า การติดตามระบบแบงก์ล่มนั้น ทางสมาคมธนาคารไทย มีการตั้งวอร์รูม

และมี CIO คอยดูแลติดตามเรื่องนี้อยู่แล้วทุกธนาคาร และ หากมีปัญหาจะมีการส่งสัญญาณเพื่อให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะธนาคารที่มีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันข้อร้องเรียนต่าง ๆ ก็ลดลง เพราะเชื่อว่าแบงก์ก็ทำเต็มที่ในเรื่องนี้