ดอลลาร์อ่อนค่า หลังรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจไปในทางอ่อนแอลง

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจไปในทางอ่อนแอลง ขณะที่ปัจจัยในประเทศแบงก์ชาติเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ส.ค. 65 เพิ่มขึ้น หลังเปิดประเทศ สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 36.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสดีที่ 8 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 36.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/9) ที่ระดับ 36.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐ หรือ Beige Book ในวันพุธ (7 ก.ย.) โดยระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแอลงในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง หลังจากพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านั้น

รายงานของเฟดระบุว่า ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.จนถึงเดือน ส.ค.นั้น ราคาผู้บริโภคยังคงเร่งตัวขึ้นในทั้ง 12 เขต แม้ว่ามี 9 เขตที่รายงานราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า ภาวะราคาที่อยู่ในระดับสูงนั้น จะยังคงยืดเยื้อต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า การที่เฟดประกาศสงครามกับเงินเฟ้อด้วยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแรงลง เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะกดดันให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับลดการใช้จ่าย

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจทั่วทั้ง 12 เขตของสหรัฐมีความกังวลในเรื่องดังกล่าว โดยรายงาน Beigen Book ระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตยังคงอ่อนแอในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา (มิ.ย.-ส.ค.) ขณะที่ภาคธุรกิจคาดการณ์ว่า อุปสงค์จะชะลอตัวลงอีกในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ เฟดเปิดเผยรายาน Beige Book ก่อนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) จะประชุมในวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ ขณะที่กระแสคาดการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมครั้งนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ส.ค. 65 พบว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 48% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยเพิ่มขึ้น หลังจากมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันตั้งแต่เดือน ก.ค. พร้อมคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเดือน ก.ย. 65 โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.37-36.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 0.9988/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/9) ที่ระดับ 0.9913/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมวันนี้ (8 ก.ย.) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงจนเกินควบคุม โดยคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินของ ECB กำลังพยายามควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีของสหภาพยุโรป (EU) เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเงินออมของภาคครัวเรือนและบั่นทอนผลผลิตธุรกิจ ขณะนี้ ECB มีอยู่สองตัวเลือกระหว่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% และ 0.75% โดยตัวเลขหลังจะเป็นระดับสูงสุดที่ ECB เคยปรับดอกเบี้ยมา แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็แสดงให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินนโยบายของ ECB ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9977-1.0015 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9998/00 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/9) ที่ระดับ 144.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/9) ที่ระดับ 144.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนยังคงอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ท่ามกลางความแตกต่างทางนโยบายทางการเงินกับสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 143.46-144.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 144.03/05 เยน/ดอลลาร์สหัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของ ECB (8/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (8/9), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน (9/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.60/-6.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.5/-5.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ