คลังชงครม.ดึงแบงก์ร่วมวง ตั้ง “ศูนย์ฟินเทค” ระดับชาติ

คลังเตรียมชง ครม. ตั้ง “ศูนย์ฟินเทค” ระดับชาติ “อภิศักดิ์” วางเป้าสูงเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพฟินเทคสั่งดึงแบงก์มีส่วนร่วม ชี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากฟินเทค ขณะที่ “กรณ์” ดอดพบขุนคลัง เชิญเปิดศูนย์ “F13” ของสมาคมฟินเทคประเทศไทย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้เข้ามาพบนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เพื่อหารือถึงนโยบายการสนับสนุนฟินเทคในประเทศไทยของรัฐบาล รวมถึงเชิญ รมว.คลัง ไปร่วมพิธีเปิดศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทค “F13” ที่ทางสมาคมตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ และเชื่อมโยงผู้ประกอบการฟินเทคกับองค์กรธุรกิจ ธนาคารและสถาบันการเงิน หน่วยงานผู้กำกับดูแล ในเร็ว ๆ นี้

โดยก่อนหน้านี้ นายกรณ์ได้ผลักดันให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ (National FinTech Sandbox) ขึ้น เพื่อใช้เป็นสนามทดสอบการให้บริการฟินเทคสำหรับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทางสมาคมมีการตั้งสนามทดสอบ หรือ sandbox ของตัวเองขึ้นมาแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายภาครัฐนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงการคลัง จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ (incubator) สำหรับผู้ประกอบการฟินเทคหน้าใหม่ (fintech startup) ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ว่าอาจจะตั้งขึ้นที่จามจุรีสแควร์ โดยศูนย์นี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นสนามทดสอบ หรือ sandbox สร้างระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง (ecosystems) รวมถึงจัดหาเงินทุนให้แก่ธุรกิจที่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ในรูปของเงินร่วมลงทุน (VC)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่อำนวยความสะดวก สร้าง ecosystems ที่เหมาะสมให้แก่สตาร์ตอัพฟินเทค โดยได้มอบให้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการในการเตรียมการเรื่องนี้อยู่ อย่างไรก็ดี

ขณะนี้ตนได้ให้ไปพิจารณาดึงสถาบันการเงิน (แบงก์) เข้ามาร่วมมีบทบาทในศูนย์นี้ด้วย เพราะจะเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากฟินเทคที่จะมีการทดสอบ “ฟินเทคนี่ ผู้ใช้ต้องเป็นแบงก์ ก็เตรียมว่าต้องเอาพวกนี้เข้ามาด้วย เพราะว่าเขาจะได้มีโอกาสเข้ามาดู แล้วก็ร่วมในกระบวนการ ดูว่าถ้าสตาร์ตอัพรายไหนทำได้ดีก็ดึงเอาโปรแกรมมาใช้ เพราะไม่อย่างนั้น สตาร์ตอัพทั้งหลายที่พัฒนาฟินเทคขึ้นมาแล้ว ก็จะไม่มีคนนำไปใช้ แล้วเวลาทดลองก็เหมือนกัน ก็ต้องใช้ทรานแซ็กชั่นของแบงก์” นายอภิศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ นายอภิศักดิ์กล่าวด้วยว่า อดีต รมว.คลัง ที่ปัจจุบันเป็นประธานสมาคมฟินเทคประเทศไทย ได้เข้ามาพบตน เพื่อเชิญไปเปิดศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคที่ทางสมาคมตั้งขึ้นมา ซึ่งก็มีแนวคิดและลักษณะคล้ายกับศูนย์ที่กระทรวงการคลังจะตั้งขึ้นมา เพียงแต่จะดำเนินการโดยภาคเอกชน

“เราจะไม่สร้างแพลตฟอร์มที่จำกัด แต่จะทำอย่างเปิดกว้าง สิ่งสำคัญก็คือ ต้องให้ผู้ผลิต หรือว่าคนคิดนวัตกรรมกับผู้ใช้งานมาเจอกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หรือกฎ ระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้คนที่คิดเรื่องใหม่ ๆ เหล่านี้สามารถทำงานได้ โดยอันไหนที่เวิร์ก เราก็จะมีทุนให้ แล้วก็พยายามแก้กฎหมายบางอย่างเพื่อให้สะดวกขึ้น” นายอภิศักดิ์กล่าว

สำหรับเงินทุนที่จะมาสนับสนุนสตาร์ตอัพฟินเทคนั้น รมว.คลังกล่าวว่า กำลังออกแบบอยู่ แต่ก็มีกองทุนสตาร์ตอัพที่สามารถนำมาใช้ได้อยู่แล้ว ขณะที่การแก้ไขกฎหมายนั้นได้ให้นำกฎระเบียบของประเทศไทยไปเปรียบเทียบของประเทศอื่น เพื่อออกแบบมาให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพด้านฟินเทคได้

“ปัจจุบันสตาร์ตอัพฟินเทคหลายคน จริง ๆ อยู่เมืองไทย แต่แทนที่จะจดทะเบียนที่ประเทศไทย แต่ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ โดยเขาบอกว่าเนื่องจากกฎระเบียบของเรายังไม่ค่อยดีนัก ก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เอื้ออำนวย ซึ่งก็เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกฎหมายด้านตลาดทุน” รมว.คลังกล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางการตั้งศูนย์ทดสอบด้านฟินเทคนี้ เมื่อ รมว.คลังเห็นชอบแล้ว จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป