ธพว.ประกาศตัวเป็น”M SME Development Bank”หนุนผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ

ธพว.ประกาศตัวเป็น”M SME Development Bank”หนุนผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ หลังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบให้ออกจากแผนฟื้นฟู ชูแพ็จเกจ 7 หมื่นล้านบาทปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการปี 2561

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 เห็นชอบให้ ธพว.ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรหรือแผนฟื้นฟู เนื่องจากว่าตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาองค์กรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1.ปรับกระบวนการอำนวยสินเชื่อ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีการ Check & Balance และเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีได้มากขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-2560 มียอดปล่อยสินเชื่อรวม 98,757 ล้านบาท และยอดเบิกจ่ายสินเชื่อใหม่วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท รวม 93,995 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 สามารถปล่อยสินเชื่อทั้งหมดได้จำนวนทั้งสิ้น 43,269 ล้านบาท 2.สร้างกระบวนการติดตามลูกหนี้ (Loan Monitoring) โดยจัดตั้งหน่วยงานควบคุมคุณภาพสินเชื่อ ส่งผลให้หนี้ปล่อยใหม่ในปี 2560 ตกชั้นเพียงร้อยละ 0.21 เท่านั้น 3.บริหารจัดการหนี้ NPL ตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 3.32 , 1.32 และ0.21 ตามลำดับ 4.ดำเนินการตามพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการด้านสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Policy Loan สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว สินเชื่อ SMEs Transformation และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เป็นต้น 5. ควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนเงิน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นและอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยในปี 2560 มีกำไรก่อนตั้งสำรองหนี้เพื่อความมั่นคง กว่า 1,600 ล้านบาท และบริหารจัดการต้นทุนการเงินอยู่ที่ร้อยละ 1.68 ดีกว่าที่กำหนดไว้ ส่งผลให้การจัดอับดับ Credit Rating โดย Fitch Ratings อยู่ในอันดับที่ AAA (tha) และ 6.มุ่งเสริมสร้างจริยธรรม และธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมองค์กรคุณธรรม พร้อมเสริมสร้างระบบการตรวจสอบให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้ได้รับการประเมินองค์กร ปี 2559 เท่ากับ 5 คะแนนเต็ม (สำรวจโดย NIDA)

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า การออกจากแผนฟื้นฟูฯ แสดงให้เห็นว่า ธพว.มีความสามารถ และประสิทธิภาพที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนยกระดับเศรษฐกิจชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อให้ ธพว.ก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ไม่กลับสู่ปัญหาดั่งอดีตที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงมีข้อกำหนดการปล่อยสินเชื่อ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ที่มีคุณภาพดี ขณะเดียวกันก็พร้อมประกาศตัวเป็น “M SME Development Bank” โดยตัว “M” มาจากคำว่า “Micro” บ่งบอกถึงภารกิจหลักของตัวเองอย่างชัดเจนในการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อสนับสนุนกลุ่ม “จุลเอสเอ็มอี”หรือผู้ประกอบการรายย่อยคนตัวเล็กในชุมชนต่างๆ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ไปทั่วประเทศ โดยเตรียมแพคเกจสินเชื่อเพื่อรายย่อยวงเงินรวม 70,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3%ต่อปี ฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 4 ปีแรก 2) โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก วงเงิน 8,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 1% และ 3) สินเชื่อ Factoring วงเงิน 12,000 ล้านบาท กู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยมีโปรโมชั่น 7:1:0 โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7 วัน, 1 คือ เบิกจ่ายภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียมเรียกเก็บหนี้

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรฯ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และ ธพว. เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการยกระดับอาชีพจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การใช้ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต และตรงตามความต้องการของตลาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านความรู้ ขณะที่ ธพว.เติมเต็มด้านเงินทุน โดยได้มีการนำร่องที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งมีการส่งเสริมให้ปลูกไผ่ และต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถ่านเชื้อเพลิง ไผ่สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อบริโภค เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ และบ้านจากไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าว จะขยายผลไปทั่วประเทศ ตั้งเป้าว่าจะต้องเกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตรครอบคลุมอย่างน้อยทุกอำเภอทั่วประเทศ