บสย. เตรียมมาตรการ “ตัดต้น-ตัดดอก” ดูแลเอสเอ็มอีไปต่อไม่ไหว

สิทธิกร ดิเรกสุนทร
สิทธิกร ดิเรกสุนทร

บสย.เตรียมมาตรการ “ตัดต้น-ตัดดอก” ดูแลเอสเอ็มอีไปต่อไม่ไหว คาดช่วงปี’66 ยอดเคลมพุ่ง หลัง 2 ปีอนุมัติค้ำประกันกว่า 2 แสนล้านบาท แนะผู้ประกอบการใช้ 5D รับมือเศรษฐกิจเสี่ยง

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” ช่วงเสวนาพิเศษหัวข้อ “Thailand New Chapter 2023” ว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาถึง 10 ล้านคน ขณะเดียวกันยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจก็ยังมี ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซียและยูเครน เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทุกวิกฤตนั้นมีโอกาส ซึ่งความท้าทายของเอสเอ็มอี อยู่ที่ว่าจะมีการสร้างเกราะคุ้มครองให้กับเอสเอ็มอีอย่างไร ในภาวะที่มีพายุซัดเข้ามา เพราะหากเอสเอ็มอีไม่มีเกราะคุ้มครองก็จะไม่สามารถเป็นเกราะคุ้มครองให้กับประเทศได้ในภาวะที่เศรษฐกิจต้องการ โดยปัจจุบันไทยมีเอสเอ็มอีที่อยู่ 6 ล้านราย แบ่งเป็นในระบบ 3 ล้านราย และนอกระบบอีก 3 ล้านราย ซึ่งมีมูลค่าที่สร้างต่อระบบเศรษฐกิจ นับเป็นเม็ดเงิน 32% ต่อจีดีพี ส่วนการจ้างงานมากกว่า 70% ต่อจีดีพี ซึ่งหากเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจด้วย

สิทธิกร ดิเรกสุนทร

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอสเอ็มอียังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง โดยปี 2565 นี้ จนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 65 บสย.ช่วยค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสินเชื่อ และพบว่าจากวงเงินดังกล่าว สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 3-4 แสนล้านบาท โดยเป็นกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี อาชีพอิสระ รายได้น้อย กว่า 1.7 หมื่นราย จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.2 แสนราย ดังนั้น ในภาพรวม บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกันกลุ่มรายได้น้อย 4,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

“จากการค้ำประกันดังกล่าว ก็จะมีส่วนที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าไปในระบบผ่านสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยในช่วงเดือน ส.ค.นี้ เหลือวงเงินอยู่ 7 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าจะยังสามารถพยุงช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณถึงช่วงกลางปี 2566 ซึ่งสำคัญมากต่อเอสเอ็มอี เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยเป็นอัตราขาขึ้น แต่โครงสร้างสินเชื่อฟื้นฟูกำหนด 2 ปีแรก ดอกเบี้ยคงที่ 2% ต่อปี รวมกับค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 1% เป็น 3% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำมาก เฉลี่ย 5 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยฉลี่ยอยู่ที่ 5% และ บสย.ยังมีมาตรการขยายเวลาอายุหนังสือค้ำประกันของ บสย.ให้ หากหมดอายุภายในปี 2565-2567 เราก็ต่อให้สูงสุด 10 ปี”

นอกจากนี้ บสย.ยังมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการกรณีที่เกิดปัญหา กรณีที่เป็นลูกค้าของ บสย. แล้วไปปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินไม่ไหว แล้วแบงก์ส่งมาเคลม และปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. ซึ่ง บสย.ก็มีมาตรการรับมือสำหรับปี 2566 ผ่านการตัดเงินต้นและตัดดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยต่ำมาก

“ช่วงปี 2563-2564 บสย.เข้าไปค้ำผู้ประกอบการกว่า 2.14 แสนล้านบาท โดยช่วง 2 ปีแรกน่าจะยังไม่มียอดเคลม แต่ช่วงปีที่ 3-4 ยอดเคลมจะเริ่มไหลเข้ามา กองหลังของ บสย.ก็จะมีการเตรียมมาตรการ 3 สี ได้แก่ ม่วง เหลือง และเขียว ผู้ประกอบการที่เข้ามาจากสถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ไม่ไหว ส่งมาเคลมกับเรา ก็จะเข้ามาตรการพื้นฐานของเรา เช่น โปรแกรมแรก ดอกเบี้ยจาก 6% จะลดลงเหลือ 3% และมีการตัดเงินต้นให้ก่อน โปรแกรมที่ 2 กลุ่มสีเขียว มี 1% วงเงิน 1 แสนบาท ก็จะจ่ายเพียง 1,000 บาท และตัดต้น 100% ขณะที่มี 10% วงเงิน 1 แสนบาท จ่ายเพียง 10,000 บาท และตัดต้น 100% ดอกเบี้ยจาก 0% ผ่อนนาน 7 ปี เป็นต้น”

ทั้งนี้ ขอแนะนำแนวทางในการปรับตัวของเอสเอ็มอีในภาวะที่ภาพเศรษฐกิจ K-Shaped ผ่าน 5D ในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.Digital & Financial Literacy เอสเอ็มอีจะต้องมีการปรับตัวรับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น เข้าใจและประยุกต์ใช้ รวมถึงการเข้าถึงโซเชียลด้วย

2.Digital Wallet ควรเข้าสู่ระบบนิเวศที่รัฐสร้างไว้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ไม่ตกขบวน 3.Digital Lending เป็นแพลตฟอร์มการให้บริการขอสินเชื่อออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4.Digital Cregit Guarantee เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยมี บสย.ค้ำประกัน และ 5.D ต่อสิ่งแวดล้อม คือการทำธุรกิจให้สมดุลต่อสิ่งแวดล้อม