แบงก์สะอึกหนี้เสียออกฤทธิ์ต่อ กู้บ้าน-รายย่อย-SMEs ปีจอตั้งสำรองบาน

ธปท.เผยปิดงบฯ ปี’60 แบงก์แบกหนี้เสีย 4.29 แสนล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จับตา 3 แบงก์นำโด่ง กรุงไทย” อ่วมสุดเอ็นพีแอลทะลุ 1 แสนล้านบาท เหตุ “เอิร์ธ-ธุรกิจเหล็ก-โรงสี” พ่นพิษ “ผยง” กุมขมับปี’61 พิษมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ดันภาระสำรองฯเพิ่มด้วย ขณะที่ “ไทยพาณิชย์” แจงลูกหนี้กู้บ้านจ่ายไม่ตรงเวลาทำเอ็นพีแอลเพิ่ม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล (Gross Npls) สิ้นปี 2560 ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ อยู่ที่ 429,030 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.91% โดยพบว่ามูลค่าเอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาส 3 ปี 2560 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 428,108 ล้านบาท ขณะที่สิ้นไตรมาส 3 สัดส่วนเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 2.97%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรวบรวมข้อมูลตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ณ สิ้นปี 2560 (ดูตาราง) ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารทหารไทย (TMB), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP), ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK), ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) และธนาคารธนชาต (TBANK) พบว่า มียอดเอ็นพีแอลรวม เพิ่มขึ้น 12%

โดยธนาคารที่มีเอ็นพีแอลมูลค่า สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 103,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ 91,128 ล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ จำนวน 87,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อนอยู่ที่ 68,841ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำนวน 69,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนอยู่ที่ 65,087 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 65,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากปีก่อนอยู่ที่ 57,593 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 37,622 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 34,834 ล้านบาท

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลของธนาคารที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้เดิม นำโดย บมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่เป็นเอ็นพีแอลสูง 1.2 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจเหล็ก โรงสี และมันสำปะหลัง ส่วนลูกค้าสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ในปี 2560 เป็นเอ็นพีแอลน้อยมาก

สำหรับในปี 2561 นี้ ธนาคารต้องการให้เอ็นพีแอลต่ำกว่า 4% ของสินเชื่อรวม หรือลดลงจากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ที่ 4.19% แต่ยอมรับว่า เป็นเรื่องยาก เนื่องจากมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ทำให้แบงก์ต้องนับลูกหนี้ที่เห็นว่า มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เสีย คือหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ว่าเป็นเอ็นพีแอลด้วย

“เกณฑ์ใหม่อาจทำให้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้แบงก์ได้ทยอยตั้งสำรองไปตั้งแต่ไตรมาส 4 แล้ว ส่วนปีนี้ก็ยังต้องระมัดระวัง คือ สินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย” นายผยงกล่าว

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2560 เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.83% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.67% โดยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารต้องตั้งความเสี่ยงในกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านบาท เนื่องจากมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ธนาคารจำเป็นต้องตั้งมีการจัดชั้นหนี้เชิงคุณภาพมากขึ้น

“หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นของแบงก์ ถือว่าปกติ เมื่อเทียบกับปีก่อน ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่เนื่องจากมีลูกหนี้บางส่วนที่เคยชำระหนี้ตลอด กลับชำระหนี้ไม่ตรงวัน เราจึงต้องจัดชั้นเพิ่มขึ้น หนี้เอ็นพีแอลเลยดูสูงขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้ว กลุ่มนี้ก็ยังชำระอยู่ เพียงแต่ด้านความเสี่ยงแล้ว หากลูกค้าจ่ายไม่ตรงวันบ่อย ก็อาจจะทำให้ดูว่า คุณภาพอาจจะเริ่มมีปัญหา เราจึงต้องจัดชั้นไว้ก่อนเพื่อระมัดระวัง ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้ในที่สุด ก็อาจต้องไปปรับโครงสร้างหนี้” นางกิตติยากล่าว

นางกิตติยากล่าวอีกว่า สำหรับปี 2561 เชื่อว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลน่าจะดูดีขึ้น เพราะปกติแล้วหากเศรษฐกิจดีขึ้น เอ็นพีแอลก็น่าจะปรับตัวลดลงได้อย่างต่อเนื่อง

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า กลุ่มทิสโก้มี NPL ratio ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ของกลุ่มธนาคารในปี 2560 อยู่ที่ 2.32% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 2.54% สาเหตุเพราะคุณภาพสินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง