ดอลลาร์อ่อนค่า กังวลชะลอขึ้นดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์อ่อนค่า จากความกังวลการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลง ส่วนปัจจัยในประเทศ ตัวเลขส่งออกไทยกันยายนโตกว่า 7.8% นำเข้าขยายตัว 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เดือน ก.ย.ไทยขาดดุลการค้า 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/10) ที่ระดับ 38.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/10) ที่ระดับ 38.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายโรเจอร์ เฟอร์กูสัน อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปภายในปีนี้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง และเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงสิ้นปีหน้า

โดยนายฟอร์กูสันคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และจะปรับขึ้น 0.50% ในเดือน ธ.ค. และอาจปรับขึ้นอีก 0.25% ในช่วงสิ้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามรายงานดัชนี CPI ครั้งต่อไปว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวหรือไม่

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 102.5 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 106.5 จากระดับ 107.8 ในดือน ก.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน ก.ย. 65 มีมูลค่า 24,919 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 4.3-4.4% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,772 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เดือน ก.ย.ไทยขาดดุลการค้า 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisment

ส่วนในช่วง 9 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ย 65) มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 221.366 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6% มูลค่าการนำเข้ารวมอยู่ที่ 236,351 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ไทย 9 เดือน ไทยขาดดุลการค้า 14,985 ล้านเหรียญสหรัฐ

รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์เชื่อว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยคาดว่าทั้งปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ราว 8% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.67-38.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/10) ที่ระดับ 0.9944/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/10) ที่ระดับ 0.9885/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ในขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (27 ต.ค.) ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน

นอกจากนี้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนขานรับการแต่งตั้งนายริซี สุนัค เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9944-1.0045 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0027/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

Advertisment

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/10) ที่ระดับ 148.19/21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/10) ที่ระดับ 148.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามแรงเทขายดอลลาร์ในวันนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.71-148.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2565 (ประมาณการเบื้องต้น) และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน ก.ย.ดัชนีรายการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือน ต.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/6.26 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.5/-7.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ