คลังกุมขมับ เร่งหาเงินอุ้มพืชผลเกษตร

เกษตร

คลังกุมขมับเงินกู้ 1.5 ล้านล้านหมดเก๊ะ-เงินอุดหนุนมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปริ่มเพดาน “อาคม” สั่งเร่งเคลียร์โครงการเก่า-หาทางเพิ่มพื้นที่ใช้งบฯเพิ่ม ศึกษาแก้กฎหมายขยับเพดานเงินอุดหนุนอีกรอบ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ประชุมหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.), สำนักงบประมาณ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อพิจารณาภาพรวมโครงการต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้เงินตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2566

“ตอนนี้เรายังไม่ได้ข้อสรุป ยังเป็นการเรียกหน่วยงานเข้ามาดูภาพรวม ว่ามีโครงการอะไรบ้างที่ต้องใช้เงิน ไม่ใช่เฉพาะโครงการเกี่ยวกับการประกันรายได้ข้าว เนื่องจากยังมีโครงการที่ยังต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก” นายอาคมกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมนอกรอบ เพื่อหาแนวทางไปรายงาน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยพิจารณาในภาพรวมโครงการที่ต้องการใช้เงินทั้งหมด และให้ความสำคัญกับแหล่งเงินงบประมาณ

ทั้งงบประมาณที่มีอยู่ของหน่วยราชการ รวมถึงงบฯกลางด้วย เพราะในปีงบประมาณ 2566 นี้ ไม่มีเงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินทั้ง 2 ฉบับแล้ว ดังนั้น เม็ดเงินที่พิจารณาอยู่ขณะนี้จึงมีเพียงงบประมาณประจำปีอย่างเดียว จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เงินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ต้องพิจารณาให้การดำเนินงานต่าง ๆ ของภาครัฐเกิดประโยชน์จริง ด้วยแหล่งเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดในปีงบประมาณ 2566 โดยต้องดูว่าจะสามารถทำได้อย่างไรบ้างในส่วนของมาตรา 28 หลังจากปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา ได้ขยายกรอบเพดานจาก 30% เป็น 35% ชั่วคราว

ซึ่งขณะนี้สิ้นสุดแล้ว ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูว่าจะสามารถออกกฎหมายให้คงที่อัตราเพดานไว้ที่ 35% หรือจะเพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้เงิน อย่างไรก็ดี จะต้องรอดูโครงการที่จะขอใช้เงินในปีงบประมาณ 2566 นี้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ในส่วนการก่อหนี้ภาครัฐต่อสัดส่วนงบประมาณ จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 30% เป็น 35% มีพื้นที่ในการก่อหนี้ได้ 930,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 32% หรือเป็นวงเงินประมาณ 890,000 ล้านบาทแล้ว

ฉะนั้น หากต้องการเพิ่มพื้นที่ในการก่อหนี้ส่วนนี้เพิ่ม รัฐบาลจะต้องไปชำระหนี้ส่วนที่ค้างอยู่ เช่น โครงการจำนำข้าว ที่รัฐบาลค้างจ่ายอยู่ 80,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2566 ก็ตั้งงบฯชำระหนี้ส่วนนี้รวมแล้ว 57,000 ล้านบาท โดยหากชำระหนี้ทั้งหมดก็จะมีพื้นที่ในการใช้เงินตามมาตรา 28 มากขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า รมว.คลังได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. เข้าไปสำรวจโครงการจากมาตรการของรัฐต่าง ๆ ที่ดูแลเกษตรกร เนื่องจากบางโครงการยังใช้เม็ดเงินไม่หมดตามกรอบวงเงินที่ตั้งไว้ ก็ขอให้นำวงเงินส่วนนั้นกลับมาคืน เพื่อเพิ่มพื้นที่มาตรา 28 ให้รัฐบาลใช้เงินดูแลประชาชนในโครงการอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น

“รมว.คลังยังได้สั่งการให้ ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักในการสำรองเงินจ่ายดูแลประชาชน โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีเม็ดเงินสำรองเพื่อจ่ายเงินในโครงการประกันรายได้อยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท

แต่หากให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนตามวงเงินที่มีอยู่ ก็ไม่สามารถทำได้อยู่ดี เนื่องจากจะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35% ฉะนั้น รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างหาแนวทางในการดูแลเรื่องนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีที่ 4 วงเงิน 86,740 ล้านบาท เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว หาก ครม.เห็นชอบให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินไปก่อน แล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณทยอยคืนให้ ก็จะอยู่ภายใต้กรอบมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง