บาทแข็งค่า ตลาดจับตาประชุมเฟด สัปดาห์หน้า

เงินบาท-ตลาดหุ้น-02

เงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาประชุมเฟดสัปดาห์หน้า อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐระบุ เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปแต่ในอัตราที่ชะลอลง และเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงสิ้นปีหน้า ขณะที่ปัจจัยในประเทศ คาดปีนี้ส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 8%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (25/10) ที่ระดับ 38.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 38.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการที่ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อหยุดยั้งการร่วงลงของเงินเยน กดดันดอลลาร์สหัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก

ทั้งนี้ ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังจากนายโรเจอร์ เฟอร์กูสัน อดีตรองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปภายในปีนี้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง และเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงสิ้นปีหน้า

โดยนายเฟอร์กูสันคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และจะปรับขึ้น 0.50% ในเดือน ธ.ค. และอาจปรับขึ้นอีก 0.25% ในช่วงต้นปีหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามรายงานดัชนี CPI ครั้งต่อไปว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวหรือไม่

นักลงทุนกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล่าสุด Fed Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 49.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. ลดลงจากเดิมที่เคยให้น้ำหนักมากถึง 75%

Advertisment

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุน หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับ GDP ประจำไตรมาส 3 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 2.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.3% ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ และทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถรับมือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ที่มีการเปิดเผยได้แก่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 217,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.6%

คาดส่งออกไทยปีนี้โต 8%

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน ก.ย. 65 มีมูลค่า 24,919 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 4.3-4.4% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,772 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เดือน ก.ย.ไทยขาดดุลการค้า 853.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนในช่วง 9 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 65) มูลค่าการส่งออกรวม อยู่ที่ 221,366 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6% มูลค่าการนำเข้ารวม อยู่ที่ 236,361 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.7% ส่งผลให้ไทย 9 เดือน ไทยขาดดุลการค้า 14,985 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมเชื่อว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ

Advertisment

โดยคาดว่าทั้งปีนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ราว 8% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.63-38.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/10) ที่ระดับ 37.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (25/10) ที่ระดับ 0.9894/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 0.9750/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สอดคล้องกับหลายสกุลเงินที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ขานรับรายงานข่าวที่ว่านายริชี ซูแน็ก อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ

ทั้งนี้นักลงทุนคาดว่าด้วยประสบการณ์ของนายซูแน็ก ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ และอดีตนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จะทำให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงของอังกฤษในขณะนี้

BOE เตือนอังกฤษเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ระบุเตือนก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2565 จนถึงสิ้นปี 2566 ขณะที่มูดี้ส์ อิสเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอังกฤษลงสู่ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” เนื่องจากอังกฤษกำลังเผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพด้านการเมืองและอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก

โดยในวันพฤหัสบดี (27/10) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม ตามการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับ 1.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552 จากเดิมที่ระดับ 0.75%

นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ค. และ 0.75% ในเดือน ก.ย. โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ค.ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543

นอกจากนี้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนขานรับการแต่งตั้งนายริชี ซูแน็ก เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ ด้วยประสบการณ์ของนายริชี ซูแน็ก ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ และอดีตนักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซคส์ หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงของอังกฤษในขณะนี้

ซึ่งการที่นายริชี ซูแน็ก ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ จะช่วยให้ตลาดมีเสถียรภาพ หลังจากเผชิญความวุ่นวายมาระยะหนึ่ง ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกรอบระหว่าง 0.9631-1.0093 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/10) ที่ระดับ 0.9938/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันอังคาร (25/10) ที่ระดับ 148.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/10) ที่ระดับ 151.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวใกล้ระดับ 149 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังแข็งค่าสู่กรอบ 146 ภายหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินเยน หลังจากเยนดิ่งลงทะลุ 151 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แตะระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 32 ปี

ทั้งนี้ แม้นายมาซาโตะ คันดะ รมช.คลังฝ่ายกิจการต่างประเทศต่างประเทศของญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นว่ากระทรวงการคลังได้เข้าแทรกแซงตลาดหรือไม่ แต่สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อพยุงค่าเงินเยน

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมานั้น ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมาก ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐจะปรับตัวกว้างขึ้นอีก เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่มีแนวโน้มที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินแม้ตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่น (เฟด) ที่ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ขณะที่ในวันศุกร์ (28/10) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraeasy Monetary Policy) ในการประชุม ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด แต่สวนทางกับธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่้วโลกที่พากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่้อควบคุมเงินเฟ้อ

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อของปีงบประมาณ 2565 ขึ้นสู่ระดับ 2.9% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.3% และได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2565 ลงสู่ระดับ 2.0% จากระดับ 2.4% ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.56-151-95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/10) ที่ระดับ 147.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ