11 สุดยอดเมืองเศรษฐกิจแห่งแดนมังกร

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย เฮเลน วอง ธนาคารเอชเอสบีซี

จีนกำลังปลุกปั้นแผนบูรณาการระดับภูมิภาค เพื่อสร้างมหานครชั้นเลิศที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน หรือที่รู้จักกันว่า เป็นพื้นที่เขต Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay

แผนการเชิงยุทธศาสตร์นี้มีจุดประสงค์จะเชื่อมหัวเมือง 9 แห่งใน Pearl River Delta ของ Guangdong อันได้แก่ Guangzhou, Shenzhen, Zhuhai, Foshan, Zhongshan, Dongguan, Huizhou, Jiangmen และ Zhaoqing เข้ากับเขตบริหารพิเศษ 2 แห่ง ฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีศักยภาพระดับโลก

วิสัยทัศน์นี้ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝัน เนื่องจากพื้นที่ในเขต Greater Bay มีประชากรรวมกัน 68 ล้านคน และมีจีดีพีรวมกันคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2573 จีดีพีของพื้นที่ในเขตนี้จะสูงถึง 4.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าพื้นที่เขตอ่าวโตเกียว เขตอ่าวนิวยอร์ก และเขตอ่าวซานฟรานซิสโก

พื้นที่ดังกล่าวมีการกระจายตัวอย่างหลากหลายของอุตสาหกรรม เป็นผลจากความได้เปรียบในการแข่งขันที่โดดเด่นและจุดแข็งที่เสริมกัน

ตัวอย่างเช่น Shenzhen มีภาคการผลิตขนาดใหญ่และกลายเป็นสุดยอดแหล่งนวัตกรรมของจีน โดยเป็นฐานที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติจีนที่สำคัญและมีศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้น นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีจากต่างชาติก็กำลังจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่นั่นด้วยเช่นกัน

ด้านฮ่องกงจะยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางการเงินต่อไป และเป็นฐานธุรกิจของบริษัทจีนที่ต้องการไปเปิดตลาดหรือเติบโตในต่างประเทศ ขณะที่ Guangzhou ก้าวล้ำในการเป็นศูนย์บริการที่ทันสมัยและศูนย์การผลิตขั้นสูง ส่วนมาเก๊าและเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กันอย่าง Hengqin ใน Zhuhai มุ่งหวังจะพัฒนาเป็นเมืองแห่งการพักผ่อนระดับนานาชาติ

เมื่อผนวกจุดแข็งของหัวเมืองหลัก ๆ เหล่านี้กับทรัพยากรอันมหาศาล พื้นที่กว้างใหญ่ และค่าแรงที่ยังถูกกว่าของเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในเขต Pearl River Delta จะทำให้พื้นที่เขต Greater Bay มีศักยภาพในการกลายเป็นกลุ่มเมืองที่สำคัญระดับโลกในด้านนวัตกรรม การเงิน การขนส่งสินค้า และการค้า

พื้นที่เขต Greater Bay มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแผนพัฒนา Belt and Road ของจีน โดยจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมประเทศต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมทางบก (เอเชียกลางไปยังยุโรป) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (เอเชียใต้ โอเชียเนีย ไปยังแอฟริกา และตะวันออกกลาง)

ในห้วงเวลาที่จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการผลิตและใช้แรงงานคนเป็นหลักไปสู่สังคมที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและบริการซึ่งขับเคลื่อนโดยชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัว พื้นที่เขต Greater Bay จะนำพาจีนมุ่งไปสู่แบบจำลองการเติบโตรูปแบบใหม่ นอกจากความได้เปรียบที่โดดเด่นด้านการผลิต นวัตกรรม และโลจิสติกส์แล้ว พื้นที่เขต Great-er Bay ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเติบโตในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน พลังงานหมุนเวียน ยาชีวภาพ (biopharma) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ การท่องเที่ยว และการบริหารความมั่งคั่ง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี การผลิต โลจิสติกส์ และด้านการเงินอย่างเหมาะสมและสอดคล้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย จึงเป็นที่มาว่าทำไมการลงทุนในโครงการต่าง ๆ อย่างเช่น เส้นทางรถไฟด่วนพิเศษ สาย Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong และสะพานเชื่อม Hong Kong-Zhuhai-Macau เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางและเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญมาก

นอกจากนี้ การร่างนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั่วภูมิภาคยังจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของคน สินค้า และเงินทุนภายในภูมิภาค

ดวงอาทิตย์กำลังเพิ่งจะขึ้นในพื้นที่เขต Greater Bay ดังนั้น คนทั่วโลกจะต้องให้ความสนใจและติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”