คลังเผยมาตรการกระตุ้นบริโภค หนุนใช้จ่ายทะลุ 4.2 หมื่นล้านบาท

คนไทยมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ในเดือนพฤษภาคม

คลังเผยมาตรการกระตุ้นบริโภค หนุนใช้จ่ายทะลุ 4.2 หมื่นล้านบาท ประชาชนเข้าถึงกว่า 38.27 ล้านคน หนุนเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.12%

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศปี 2565 ระยะที่ 2 ณ วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้ มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2

ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิรวมทุกโครงการสะสมตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2565 จนถึงวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 จำนวน 38.27 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 42,638.7 ล้านบาท

โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้

1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 13.17 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสม 5,185.6 ล้านบาท

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 1.08 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสม 394.5 ล้านบาท

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 24.02 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายรวม 37,058.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายจำนวน 18,879.6 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่ายจำนวน 18,179.0 ล้านบาท

สำหรับยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 15,442.0 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 7,498.8 ล้านบาท ร้าน OTOP 1,788.5 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 11,680.2 ล้านบาท ร้านบริการ 602.1 ล้านบาท และกิจการขนส่งสาธารณะ 47.0 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ามีผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ทั้งสิ้นจำนวน 9.72 แสนราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่จำนวน 2.33 หมื่นราย

“มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2 ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้าเป็นอย่างดี โดยมีการประมาณการว่ายอดการใช้จ่ายตามมาตรการดังกล่าว จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 ต่อปี

และการบริโภคภาคเอกชนทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.58 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีไม่มีการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของมาตรการในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย รักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป”