ดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดจับตาผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ตลาดจับตาผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ชะตาทิศทางการเมืองสหรัฐในช่วง 2 ปีข้างหน้า ก่อนมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2567 และรอดูการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐในวันที่ 10 พ.ย.นี้ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/11) ที่ระดับ 37.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/11) ที่ระดับ 37.39/41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะมีขึ้นในคืนนี้ (8/11) ซึ่งจะชี้ชะตาทิศทางการเมืองสหรัฐในช่วง 2 ปีข้างหน้า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2567

อีกทั้งยังรอดูการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐในวันพฤหัสบดี (10/11) นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและเป็นข้อมูลที่เฟดใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงิน ซึ่งหากดัชนี CPI ออกมาสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ก็อาจผลักดันให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.6% ในไตรมาส 4 โดยสูงกว่าระดับ 2.6% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ โดยเฟดสาขาแอตแลนตา จะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันพุธนี้ (9/11)

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินปรับตัวอ่อนค่าลง ที่ระดับ 110.35 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 4.22% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.27-37.39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.37/39 บท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/11) ที่ระดับ 1.0016/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/11) ที่ระดับ 0.9990/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้สถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -30.9 ในเดือน พ.ย. จากระดับ -38.3 ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -35.0

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า สภาพอากาศที่อบอุ่นและการสำรองก๊าซธรรมชาติในระดับสูงจะช่วยให้ยุโรปสามารถหลีกเลี่ยงการปันส่วนก๊าซธรรมชาติในช่วงฤดูหนาว ซึ่งดัชนีภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและดัชนีคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต มีการปรับตัวขึ้นในเดือน พ.ย. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9988-1.0031 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9984/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/11) ที่ระดับ 146.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/11) ที่ระดับ 146.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในระหว่างวันค่าเงินเยนผันผวนอยู่ในกรอบแคบเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ในวันนี้

ขณะที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากประชาชนออกมาใช้จ่ายในช่วงฤดูร้อนแรกที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น 2.3% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 146.33-146.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.61/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ (10/11), รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (10/11), ดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) ของญี่ปุ่น และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของอังกฤษ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.00/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -16.6/-14.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ