กรุงศรีฯ ชี้เงินบาทผ่านจุดอ่อนค่าสุดแล้ว จับตา เฟด-จีน หนุนบาทแข็ง

เงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 35.50-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ “ปัจจัยนโยบายการเงินเฟด-จีนคลายล็อกดาวน์” กระทบตลาดการเงิน-เงินดอลลาร์ หนุนเงินบาทผันผวน จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน-ถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด ด้าน “กรุงศรีอยุธยา” คาดเงินบาทผ่านจุดอ่อนค่าที่สุดไปแล้วที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.50-36.30 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท จะเป็นแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บรรยากาศในตลาดการเงิน (เปิดรับความเสี่ยง หรือปิดรับความเสี่ยง) และแนวโน้มราคาทองคำ

นอกจากนี้ ความหวังต่อการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ในจีนก็มีส่วนช่วยหนุนให้สกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินหยวนเช่นกัน

สำหรับไฮไลต์ทางด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ในส่วนของฝั่งสหรัฐ ต้องรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ชะลอลงมากกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม รวมถึงข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐ

Advertisment

ขณะที่ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอจับตาภาพเศรษฐกิจยุโรปผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม

และตลาดเอเชียจะเป็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน ประกอบด้วย ยอดค้าปลีก, ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม และยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ซึ่งตลาดจะใช้ประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบาย Zero COVID

ตลาดเงินสัปดาห์หน้าเปิดโหมดรับความเสี่ยง

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 7.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ มองฟันด์โฟลว์ สัปดาห์หน้า ตลาดการเงินโดยรวมมีแนวโน้มที่จะอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง จนกว่าจะมีปัจจัยเชิงลบเข้ามาพลิกบรรยากาศในตลาดการเงิน ทำให้มีโอกาสที่เงินอาจจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยต่อได้บ้าง แต่มองว่าฟันด์โฟลว์อาจไม่ได้ไหลเข้ามาอย่างในสัปดาห์นี้ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นพอสมควร (จับตาแรงขายทำกำไร หากดัชนี SET ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน 1,650 )

Advertisment

อีกทั้งในแง่ Market Breadth เริ่มเห็นจำนวนหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง (ทั้งจำนวนหุ้นทำนิวไฮ หรือยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น) ในสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าผู้เล่นในตลาดก็เริ่มจะมีการทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง

“เรามองว่าซื้อหุ้นสุทธิ 5 พันล้านบาท ส่วนบอนด์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนเข้ามาซื้อบอนด์ระยะสั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองว่าส่วนหนึ่งคือโฟลว์ธุรกรรม arbitrage เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเงินสกุลเงินบาทในตลาด offshore อยู่ในระดับต่ำมาก และอีกส่วนคือโฟลว์ธุรกรรมของนักลงทุนที่ประเมินแนวโน้มเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเร็วในระยะสั้น

“ขณะที่โฟลว์ซื้อบอนด์ระยะยาวในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะไม่มากเท่าบอนด์ระยะสั้น แต่ก็เห็นภาพการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง ทำให้เราประเมินว่านักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวมากกว่า ไล่ราคาซื้อ หากบอนด์ยีลด์ยังคงปรับตัวลดลง ประเมินขายบอนด์สุทธิไม่เกิน 1-2 พันล้านบาท”

เงินบาทผ่านจุดอ่อนค่าที่สุดที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์แล้ว

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 14-18 พฤศจิกายน 65) อยู่ที่ 35.60-36.30 บาทต่อดอลลาร์

โดยแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงผันผวนสูง หลังจากเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากกระแสเงินทุนไหลเข้าพันธบัตรไทยและข้อมูลเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าคาด ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐาน ทำให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์

ขณะที่คาดว่าดอกเบี้ยปลายทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจไม่ถึง 5% โดยก่อนหน้านี้ตลาดถือสถานะซื้อดอลลาร์จากประเด็นเงินเฟ้อและดอกเบี้ยเฟดค่อนข้างเต็มอิ่มแล้ว จึงเห็นการพลิกกลับอย่างรวดเร็ว

“เราคาดว่าเงินบาทน่าจะผ่านจุดอ่อนค่าที่สุดไปแล้วที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. อย่างไรก็ดี เรามองว่าอาจเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องด้วยตัวเลขเพียงเดือนเดียว และแม้เงินเฟ้อชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง สัปดาห์หน้าติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกของสหรัฐ รวมถึงการประมูลตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นของไทย”