ราคาน้ำมันดิบปรับลง หลังตลาดหุ้นสหรัฐ-ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงสวนทางสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายในตลาดตราสารทุน (Equity market) และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities market) ทั่วโลก หลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าตอบสนองตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับแรงกดดันจากการโยกย้ายสินทรัพย์ของนักลงทุนไปยังตลาดพันธบัตรจากผลตอบแทนที่ปรับเพิ่มขึ้น

– ดัชนี Dow Jones Industrial Average ปรับลดลงถึงร้อยละ 4.6 หรือกว่า 1,175.21 จุด โดยนักลงทุนเทขายหลังตัวเลขค่าจ้างในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 9 ปี ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ประกอบกับความกังวลเดิมเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่อาจปรับขึ้นเร็วกว่าคาด

– ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเหนือ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2513

– รอยเตอร์เผยคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ปรับเพิ่ม 2.9 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มราว 0.6 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังคาดว่าจะปรับลดลงราว 1.5 ล้านบาร์เรล

+ นักวิเคราะห์มองว่าการปรับตัวของตลาดตราสารทุนและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คอยสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดได้เป็นอย่างดี

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานในภูมิภาคเอเชียที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อุปสงค์ยังคงเบาบาง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่ทรงตัวและอุปทานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไต้หวันก็ตาม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63 – 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 65 – 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. นี้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ

ความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือน ม.ค. ปริมาณการผลิตลดลงสู่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเงินจากภาวะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง