ก.ล.ต.แก้กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล ดึง ธปท. – สคบ.ร่วมกำกับ

ศักรินทร์ ร่วมรังษี
ศักรินทร์ ร่วมรังษี

ก.ล.ต.ตั้งคณะทำงานแก้กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลฯ หลังใช้มานานกว่า 6 ปี เปิดแนวทางตั้งโจทย์ให้แบงก์ชาติกำกับ Cryptocurrency-สคบ.คุมธุรกิจ Utility Token ด้าน ก.ล.ต.ดูแล Investment Token ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ คาดได้ข้อสรุปชัดเจนไตรมาส 1 ปี 2566

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการสายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อแก้ไขพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 เปิดเผยว่า คาดการณ์ภายในช่วงไตรมาส 1/2566 จะสามารถได้ข้อสรุปแนวทางการปรับปรุงข้อกฎหมายในประเด็นต่าง ๆ ของพ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งถือว่าเป็นไทม์มิ่งที่เหมาะสมหลังจากบังคับใช้มาแล้วกว่า 6 ปี

โดยจุดประสงค์เริ่มต้นเพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลไปในทางหลอกลวง ฉ้อโกง และแชร์ลูกโซ่ รวมไปถึงอาจมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสนับสนุนธุรกิจฟอกเงิน

ทั้งนี้คณะทำงานได้มีการหารือไปแล้วนัดแรก เบื้องต้นแนวทางการกำกับดูแลในกลุ่ม “Cryptocurrency” ซึ่งใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า/บริการ เช่น Blank Coin (Bitcoin/Ethereum/Dogecoin) CBDC/Stable Coin (Digital Yuan/Diem/Tether/USD Coin) ตั้งโจทย์ไว้ว่าอาจพิจารณาการกำกับดูแลให้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หรือภายใต้กฎเกณฑ์ธุรกรรมเพย์เม้นท์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ตอนนี้แบงก์ชาติยังไม่ยอมรับว่าเป็นเงินตรา

ส่วนแนวทางการกำกับดูแลในกลุ่ม “Utility Token” ซึ่งใช้แลกสินค้า/แลกใช้บริการ เช่น Line Coin/Digital voucher/Energy token/Digital certificates และแปลงสิ่งต่าง ๆ เป็น Token อาทิ Carbon Credit, ภาพศิลปะ, การ์ดนักกีฬา (NFT) ควรถูกกำกับดูแลด้วยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรืออาจต้องมีกฎหมายเฉพาะมาดูแล

และแนวทางการกำกับดูแลในกลุ่ม “Investment Token” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุน/ลงทุน เช่น Siri Hub Token, Destiny Token ควรต้องกำกับดูแลอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะสอดคล้องไปกับการกำกับดูแลในต่างประเทศ

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯอีกชุดหนึ่ง โดยจะดึงโปรดักต์การลงทุนทั้งหมดกลับไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ซึ่งตอนนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงคลัง คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้” นายศักรินทร์กล่าว และว่า

ต่อไปภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ อาจจะเหลือโครงกฎหมายเฉพาะบางส่วนเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงขึ้นอยู่กับผลการศึกษาของคณะทำงานฯ รวมไปถึงคงต้องพูดคุยกับหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงว่าเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่

นอกจากนี้คงต้องหาแนวทางการกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ทำหน้าที่ในการเทรดดิ้ง เพราะก็ยังไม่เห็นการกำกับดูแลด้วยกฎหมายที่ชัดเจนนัก

นายศักรินทร์ กล่าวต่อว่า โดยการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือน ม.ค.66 ซึ่งจะมีการเสนอตั้งคณะทำงานชุดย่อยเพื่อศึกษาลงในรายละเอียดต่อแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

สำหรับคณะทำงานเพื่อแก้ไข พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จะมีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย พร้อมทั้งมีที่ปรึกษาคณะทำงาน 4 รายคือ 1.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษา 2.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. 3.รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล และ 4.ดร.เจษฎา ศิวรักษ์