ธุรกิจแบงก์ปี 2566 “กำไร-ราคาหุ้น” จะเป็นอย่างไร ?

โจทย์ใหญ่ของแบงก์ในปีหน้าคือต้นทุนดอกเบี้ย ที่ปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงหนี้เสีย ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ปัญหาการดูแลกลุ่มรายย่อยและเอสเอ็มอีที่เปราะบาง ซึ่งยังต้องประคองต่อ

ทิศทางกำไรแบงก์จะเป็นอย่างไร วันนี้ Prachachat Wealth ได้ร่วมพูดคุยกับคุณธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ไปร่วมรับชมรับฟังกันเลยครับ

Q : ทิศทางภาพรวมธุรกิจแบงก์ในปีหน้า กับโจทย์ใหญ่เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางหนี้เสีย เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเมินอย่างไรบ้าง

นายธนเดชกล่าวว่า จริง ๆ ถ้าพูดถึงแบงก์ เราต้องพูดในภาพรวมเศรษฐกิจก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ก็ยังมองทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับในปี 2566 ในแง่ของตัวเศรษฐกิจโดยรวมก็มองว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะโต 3.2% และปี 2566 โตประมาณ 3.7% สะท้อนว่าโดยภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น

ฉะนั้นถ้าเราคาดว่าแบงก์คือธุรกิจตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงิน แม้ว่าจะมีปัจจัยอย่างที่เรียนมาให้ทราบตอนต้น ก็จะพบว่าแบงก์ยังมีท่าทีที่ดีขึ้น แต่ต้องไปแจกแจงว่ารอบปีหน้าอะไรเป็นพระเอก อะไรเป็นพระรอง อะไรน่าจะเป็นตัวผู้ร้าย

อย่างปี 2565 ตัวเด่นจริง ๆ ที่เราเห็นคือส่งออกกับการบริโภคดีขึ้น แต่ว่าดีขึ้นช่วงท้าย ๆ จากการเปิดประเทศ และการท่องเที่ยวก็ดีขึ้นตามลำดับ และการลงทุนค่อนข้างจะโอเคเพราะฐานต่ำ

แต่ปีหน้าเองที่น่าจะเป็นพระเอกตัวจริงคือการท่องเที่ยว เพราะการเปิดประเทศมากขึ้น แต่ตัวที่เคยเป็นพระเอกในปี 2022 อย่างส่งออก ปีหน้าอาจจะไม่ใช่พระเอกแล้ว เพราะปีหน้าทุกคนก็มองคล้าย ๆ กันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยุโรป ก็จะเจอเศรษฐกิจขาลง อาจจะไปสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือเปล่ายังตอบยาก แต่ที่แน่ ๆ คือว่าจะแย่ลง ฉะนั้นภาคการส่งออกสินค้าแย่ลง แต่ภาคการท่องเที่ยว จะเป็นตัว potential upside และในแง่การบริโภคดูแล้วน่าจะเติบโตได้กลาง ๆ เพราะปีหน้าเราคิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้ง

ถึงแม้ว่ามีปัญหาเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยการเปิดประเทศที่มากขึ้น ฉะนั้นการใช้จ่ายเข้ามาในประเทศก็ยังดีอยู่ และก็อัพไซด์จากเรื่องการเลือกตั้ง ที่ปกติแล้วเวลาเข้าสู่กระแสเลือกตั้ง ช่วงต้นปีหรือกลางปีก็จะเป็นบวก

ฉะนั้นปีหน้าพระเอกคือการท่องเที่ยว รองลงมาคือการบริโภค ส่วนผู้ร้ายก็คือในแง่การส่งออก ฉะนั้นถ้าดูองค์รวมแล้วผมมองว่าแบงก์ไม่ได้แย่จนเกินไป

Q : ถ้าอย่างนั้นถือว่าเป็นปีที่ยากไหม ในแง่การสร้างรายได้-กำไร

นายธนเดชกล่าวต่อว่า ปีหน้าผมคิดว่ายังเป็นปีที่ดี ถ้ามองว่าภาพใหญ่เศรษฐกิจดี สินเชื่ออย่างปี 2565 โตประมาณ 5% ปี 2566 ทำโต 4.5-5% เพราะว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

รายได้ดอกเบี้ย ตัวช่วยแบงก์ดีสุดในปีหน้า

การขึ้นดอกเบี้ยเองปี 2565 ขึ้นมา 3 ครั้ง ปี 2566 คิดว่าขึ้นอีกประมาณ 2-3 ครั้ง ถ้าดูรวม ๆ แล้วในปี 2566 เมื่อสินเชื่อเติบโต แบงก์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ฝั่งที่จะเป็นตัวช่วยแบงก์ได้ดีที่สุดในปีหน้าคือรายได้ดอกเบี้ย ที่จะเติบโตทั้งฝั่งวอลุ่มที่ดีขึ้นและดอกเบี้ยขาขึ้นที่เป็นบวกต่อการขึ้นดอกเบี้ยกับลูกค้า

ฝั่งต้นทุนทางการเงินก็ปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่คิดว่าแบงก์ก็ยังได้ประโยชน์จากเรื่องของดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะฉะนั้นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังเติบโตได้ในระดับดับเบิลดิจิต

แต่ว่าในแง่ของค่าธรรมเนียม เราคิดว่าปีหน้าอาจจะยังไม่เด่นชัดมาก เพราะว่าตลาดทุน (Capital Market) ยังมีความกังวลเรื่องความผันผวนที่เกิดขึ้น ทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยแค่ทรงตัว และค่าใช้จ่ายจากการลงทุนต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติที่แบงก์ทำ แต่จะไม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเหมือนก่อนหน้านี้แล้ว เพราะหลัง ๆ สังเกตว่าแบงก์เองก็ไม่ได้เปิดสาขาเยอะ ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสาขาและคนลงไปได้ค่อนข้างมาก

แต่ตัวที่จะเป็นบวกลดลงอย่างมากคือสำรองหนี้ ถ้าเราดูในปี 2564-2565 จะปรับตัวลดลงค่อนข้างเยอะพอสมควร ฉะนั้นในปี 2566 เราคิดว่าสำรองหนี้น่าจะแค่ทรงตัว ฉะนั้นไม่ใช่ตัวช่วยอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นก็มองว่ายังเป็นปีที่ดี แต่ดีในอัตราที่เติบโตช้าลงเมื่อเทียบกับปี 2564-2565

ซึ่งเรามองว่าโดยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ที่เราดูประมาณ 7 แบงก์ยังมีกำไรเติบโตประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่โต 19% แต่ถ้าเทียบกับปี 2564 จะโต 30% ได้ แต่ว่ามาจากฐานต่ำที่ในปี 2563 เป็นปีที่เจอโควิดโดยกำไรแบงก์ปรับตัวลดลงไป 30%

Q : ภาพรวมหนี้เสียเป็นอย่างไรบ้าง แบงก์จะมีมาตรการเร่งรวมหนี้เพื่อคลายล็อกตัวเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

นายธนเดชกล่าวอีกว่า ถ้าเราดูตัวเลขเอ็นพีแอลทั้งในแง่ของยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPL) หรืออัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ต้องบอกว่าดีขึ้น ปีที่แย่ที่สุดคือปี 2563 คือเป็นปีที่เจอโควิด ตัวลูกหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ และแบงก์ตั้งสำรองหนี้ขึ้นค่อนข้างมาก แต่ถ้าดูจริง ๆ อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลกลับมีทิศทางที่ชะลอตัวลง

ในปี 2565 ตัวเอ็นพีแอลกลับนิ่ง ๆ ฉะนั้น NPL Ratio ถ้าเกิดดูในไตรมาส 3/65 อยู่ประมาณ 2.8% ถ้าเทียบปี 2563-2564 อยู่ประมาณ 3% ก็สะท้อนว่าตัว Gross NPL ปรับตัวลดลง

ถ้าเรามองไปที่ปี 2566 ผมคิดว่าตัวเลขไม่ต่างกันมาก เหตุผลเพราะว่าการปรับเพิ่มขึ้นของ NPL จะมาจากสองภาคส่วนคือ 1.เอสเอ็มอี 2.รายย่อย ที่ยังมีปัญหาอยู่ แต่ว่าอัตราการเร่งตัวขึ้นกลับชะลอลง คอร์ปอเรตไม่ค่อยมีปัญหาที่เกิดขึ้น ฉะนั้นถ้าเรามองว่ามีลูกหนี้อีกส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลือ และส่วนนี้อาจจะกลายเป็น NPL ได้ในอนาคต

ฉะนั้นส่วนที่เป็นเอสเอ็มอีและรายย่อยในปีหน้าในส่วนของภาคธนาคารยังต้องจับตาดู อาจจะเห็นการทรงตัว หมายความว่าอาจจะมี NPL ใหม่ ในขณะที่แบงก์เองก็จะมีมาตรการในการปรับโครงสร้างหนี้หรือมีการจำหน่ายหนี้สูญ

ฉะนั้นโดยภาพรวมแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากลูกหนี้ที่เปราะบาง เราคิดว่าแบงก์น่าจะควบคุมอยู่ และ NPL Ratio ของระบบก็คงจะอยู่ในระดับ 2.8-2.9% ฉะนั้นเป็นความเปราะบางของบางเซ็กเตอร์ แต่โดยองค์รวมแล้วน่าจะควบคุมได้ดี

และระดับสำรองหนี้ต่อหนี้เสียของแบงก์ปัจจุบัน 160-170% ฉะนั้นเรามองว่าแบงก์ไทยค่อนข้างจะเตรียมความพร้อมตรงนี้ได้ค่อนข้างดี แต่อย่าไปคาดหวังสูงว่า NPL จะปรับตัวลดลง ให้มองกลาง ๆ คือว่าทรง ๆ เมื่อเทียบกับปี 2565

Q : กลยุทธ์การลงทุนในแง่ของการเล่นหุ้นแบงก์

นายธนเดชกล่าวทิ้งท้ายว่า เรายังมองหุ้นกลุ่มแบงก์มีทิศทางการเติบโตที่ดี แต่ว่าจะเติบโตในอัตราที่เป็นปกติมากขึ้น ปี 2566 กำไรโต 14% หรือแม้แต่ปี 2567 โตประมาณ 14% ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้าที่โตประมาณ 20-30% ฉะนั้นเราคิดว่ายังเป็นหุ้นที่ ซื้อ/ถือ (BUY/HOLD) ได้

ราคาหุ้นแบงก์เอง มูลค่า หุ้น (Valuation) เทรดกันที่ประมาณ 0.5-0.6 เท่า ของมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value) ฉะนั้นเรามองว่ายังเป็นหุ้นที่ไม่แพง อัตราการเติบโตที่ดี อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ยังสูง และหุ้นแบงก์ขนาดเล็กยังเป็นหุ้นแบงก์ที่ให้เงินปันผลที่ดี

เรายังคงเลือก BBL เป็น Top pick ในแง่ของการเติบโตที่ประมาณ 15% ในปี 2565 และปี 2566 เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งค่อนข้างปลอดภัย รวมทั้งได้ประโยชน์สูงจากดอกเบี้ยขาขึ้น ให้ราคาเป้าหมาย (Target Price) BBL ในปี 2566 ที่ 171 บาท

ส่วนแบงก์ขนาดเล็กจะมี 2 ตัวคือ TISCO และ KKP แม้ว่าอัตราการเติบโตยังสูฝั่งแบงก์ใหญ่ไม่ได้ แต่แบงก์เล็กจะมีข้อโดดเด่นจากการจ่ายเงินปันผลที่สูง TISCO เราคิดว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ประมาณ 8% ส่วน KKP ประมาณ 5-6% ก็คิดว่ายังน่าสนใจอยู่ BBL, TISCO หรือ KKP นะครับ