ขุนคลังยันเห็นพ้อง ธปท. คงเป้าเงินเฟ้อปี’66 ที่ 1-3%

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง ยืนยันเห็นพ้อง ธปท. คงการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2566 ที่ 1-3% เหมือนเดิม แม้ปีนี้เงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ระบุเริ่มเห็นการชะลอตัวลงในไตรมาส 3 ชี้มีความเหมาะสม-ยืดหยุ่น มั่นใจหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ รมว.คลัง โดยคงกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับปี 2566

“เป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% ยังคงไว้เท่าเดิม แม้ว่าปีนี้ เงินเฟ้อจะยังค่อนข้างสูง แต่ก็จะเห็นว่า ในช่วงไตรมาส 3 เริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อเป็นลำดับ โดยในปี 2566 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.9% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองที่ 3% และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ที่ 2.5-3.5%” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ การคงเป้าหมายเงินเฟ้อดังกล่าว เนื่องจาก (1) เป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

2) ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูง การปรับเป้าหมายนโยบายอาจสร้างความสับสนต่อสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบายในระยะข้างหน้า

และ 3) การกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีความกว้างร้อยละ 2 มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลาง รวมถึงช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินภายใต้สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและปัจจัยที่ส่งผลต่อพลวัตเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูง

“คลังและ ธปท.ไทยจะร่วมมือในการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินให้มีความสอดประสานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และสร้างรายได้ให้กับประชาชน ซึ่ง กนง. มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” นายอาคมกล่าว