คปภ. กางแผนนโยบายปี 66 เร่งปรับกระบวนทัศน์-ฟื้นฟูความเชื่อมั่น ปชช.

เลขาธิการ คปภ. กางแผนนโยบายปี 2566 เร่งยกเครื่อง ปรับกระบวนทัศน์องค์กรใหม่ พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ชี้ต้องทบทวนการกำกับแลรอบด้าน หวังฟื้นฟูความเชื่อมั่นประชาชน

 

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายการดำเนินงานในปี 2566 สำนักงาน คปภ.ได้กำหนดวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กรใหม่ คือ “ร่วมใจ มุ่งมั่น ก้าวล้ำ เที่ยงธรรม” โดยมีคำนิยามดังนี้ ร่วมใจ คือ ผสานความร่วมมือและไว้วางใจ (Teamwork & Trust) มุ่งมั่น คือ ทำงานอย่างมืออาชีพ (Professionalism) ก้าวล้ำ คือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Creativity with Agility) และเที่ยงธรรม คือ ยึดหลักธรรมาภิบาลและใส่ใจสังคม (Good Governance for Good Society)

ดังนั้น ทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานในปี 2566 จะต้องมีการทบทวนและปรับทิศทางในการกำกับดูแลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยที่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัย การฉ้อฉลประกันภัย

รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงสำคัญได้อย่างครบถ้วน และมีฐานะการเงินที่มั่นคงเพียงพอรองรับความเสี่ยงและบริบทในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ควบคู่ไปกับการต่อยอดสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับที่สูงขึ้น

ดังนั้นจึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่เคยอยู่ในสถานะของการตั้งรับและเรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเดินทางไปสู่การสร้างสมดุลของระบบประกันภัย ควบคู่กับการเสริมสร้างความทนทาน มั่นคง และยืดหยุ่นให้กับระบบประกันภัย

ประกอบกับในปี 2566 เป็นปีสุดท้ายของการดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (2564-2566) จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ระบบประกันภัยไทยมีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ

โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนด Key Result 5 เป้าหมายหลัก ดังนี้

KR แรก ประชาชนและภาคเอกชนเชื่อมั่นในระบบประกันภัย ตระหนักถึงความเสี่ยง และใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้น มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในมิติต่าง ๆ

KR ที่ 2 ระบบประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤตได้อย่างราบรื่น สามารถบริหารความเสี่ยงสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

KR ที่ 3 สร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม เพื่อเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้น

KR ที่ 4 แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. เท่าทัน สอดคล้องกับบริบทใหม่ กฎระเบียบ และมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนแปลง

KR ที่ 5 สำนักงาน คปภ. มุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ที่มีความยืดหยุ่น พร้อมรับความท้าทายใหม่

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า กุญแจสำคัญสำหรับสำนักงาน คปภ. ในการปรับตัวสู่โลกหลังยุคโควิด-19 มี 4 ประการหลัก ๆ คือ ประการแรก สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับองค์กรอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการผลักดันให้มีการผนวกเรื่อง ESG (Environment, Social and Governance) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและกลยุทธ์ของสำนักงาน คปภ. รวมทั้งสนับสนุนและผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ประการที่ 2 ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลการศึกษาโครงการ Business Process Improvement มาใช้อย่างจริงจังให้สามารถรับมือและเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานในสายงานต่าง ๆ

โดยในปี 2566 จะมีการปรับปรุงขนานใหญ่เรียกได้ว่ายกเครื่องกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะจากจุดที่เป็น touch point เช่น การรับเรื่องร้องเรียน การให้บริการตัวแทนนายหน้า ระบบ E-licensing หรือ จากกระบวนการภายใน เช่น กระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์พัฒนาระบบสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล EWS ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบงาน e-sarabun และระบบ ERP ของสายบริหารที่มาใช้ในการจัดการดูแลทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการเงินทั้งหมดของสำนักงาน คปภ.

ประการที่ 3 ใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล จากระบบงานสารสนเทศที่ได้พัฒนาแล้ว มีการติดตามผลผ่านคณะทำงาน Enterprise Architecture เพื่อให้เกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างภารกิจของสำนักงาน คปภ. กับกระบวนการการทำงานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ประการที่ 4 สร้างสมดุลระหว่างการมีเสถียรภาพและการเติบโตเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการขับเคลื่อนองค์กร สำนักงาน คปภ. จะต้องจริงจังเรื่องการบริหารความเสี่ยงและรักษาสมดุลระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจประกันภัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“หากมีการวางแผนการรับมือที่ดี มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อม ๆ กับหมั่นทบทวนกลยุทธ์ แผนงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นประจำ ย่อมจะส่งผลให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในทุกมิติ และได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน อันจะช่วยให้ระบบประกันภัยของไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าว