บาทยังแข็งค่าเทียบดอลลาร์ เยนผันผวนหลัง BOJ ทำเซอร์ไพรส์

เงินบาท
แฟ้มภาพ

เงินบาทยังแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ เยนผันผวนหลัง BOJ ทำเซอร์ไพรส์ โดยมีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมเมื่อ 18 ม.ค.  โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และยังคงกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นเอาไว้ในช่วง -0.5% ถึง +0.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 16-20 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (16/1) ที่ระดับ 32.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/1) ที่ระดับ 32.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเผชิญกับแรงขายจากนักลงทุนภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าสหรัฐอาจพ้นจุดเงินเฟ้อสูงสุดแล้ว

โดยข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนวันศุกร์ (13/1) ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% หลังปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติและอาหาร

นอกจากนี้ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนประจำเดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.6 ถือว่าแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 และสูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 60.7 จากการคลายกังวลของตลาดเกี่ยวกับเงินเฟ้อและสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ขณะที่ในวันอังคาร (17/1) มีการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ออกมาต่ำกว่าคาดโดยดัชนีภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ -32.9 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -7 จากระดับ -11.2 ในเดือนธันวาคม

อย่างไรก็ดีในระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนในบางช่วงจากการออกมาให้ความเห็นของประธานเฟดสาขาต่าง ๆ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนหลุยส์ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างแข็งกร้าว โดยจากการดำเนินนโยบายก่อนหน้านี้ได้รับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวและยังไม่มีเหตุผลในการกลับทิศทางนโยบายการเงินจนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการควบคุมเงินเฟ้อ โดยมีความเห็นว่าจุดสูงสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดควรอยู่ระดับเหนือร้อยละ 5

อีกทั้งนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ มีความเห็นว่าเฟดจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนกระทั่งเงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย

เงินบาทแข็งค่าหลุด 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนในวันอังคาร (17/1) โดยได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การอ่อนค่าต่อเนื่องของดอลลาร์สหรัฐ, การเปิดประเทศของจีน และมุมมองของต่างชาติต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น ก่อนที่ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่ายืนที่ระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันเดียวกันจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน

โดยในระหว่างสัปดาห์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่า มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยกิจกรรมต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น

ขณะที่การส่งออกสินค้า แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่กับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาตกลงการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ จะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ยังทรงตัวต่อไปได้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.72-33.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.73/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (16/1) ที่ระดับ 1.0841/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/10) ที่ระดับ 1.0849/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงในวันอังคาร (17/1) ภายหลังจากที่มีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีที่ปรับลดลงอีกในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี 2565 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนธันวาคม แต่ลดลงเมื่อเทียบกับ 11.3% ในเดือนพฤศจิกายน และ 11.6% ในเดือนตุลาคม

สำนักงานสถิติฯเปิดเผยด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อของทั้งปี 2565 อยู่ที่ 8.7% โดยสามารถดูข้อมูลที่ละเอียดเพิ่มเติมได้จากบนเว็บไซต์ของสำนักงานฯ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1.0764-1.0887 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/1) ที่ระดับ 1.0840/4 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

บีโอเจมีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (16/1) ระดับ 127.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (13/1) ที่ระดับ 128.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนทรงตัวในระดับแข็งค่า เนื่องจากตลาดจับตารอผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมทั้งดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคมของญี่ปุ่นที่จะมีขึ้นในวันพุธ (18/1)

ขณะที่นายชุนอิชิ ซูซูกิ รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามรักษาความเชื่อมั่นในตลาด โดยบริหารจัดการหนี้สินอย่างมีความรับผิดชอบ หลังจากนักลงทุนพยายามกดดันธนาคารกลางญี่ปุ่นให้ยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ และแรงกดดันดังกล่าวก็ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 0.51% ในวันจันทร์ (16/1) มากกว่ากรอบ -0.5% ถึง +0.5% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้มีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 20 ธ.ค.

ซึ่ง รมว.คลังของญี่ปุ่นได้ให้ความเห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายประการในตลาด ซึ่งญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องรักษาวินัยทางการคลังเพื่อรักษาความเชื่อมั่นรวมถึงความยั่งยืนทางการคลังในระยะกลางและระยะยาว ดังนั้น การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจส่งผลลบต่อรายจ่ายทางนโยบาย และจะส่งผลให้การคลังของญี่ปุ่นขาดความยืดหยุ่น

ในวันพุธ (18/1) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุม โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และยังคงกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นเอาในช่วง -0.5% ถึง +0.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การคงนโยบายการเงินดังกล่าวสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า BOJ จะปรับนโยบายการเงินอีกครั้ง หลังจากที่สร้างความประหลาดใจด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ -0.25% ถึง +0.25% ทำให้ภายหลังจากที่นักลงทุนทราบผลการประชุมค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือระดับ 131 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะค่อย ๆ กลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 127.21-131.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/1) ที่ระดับ 128.89/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ