ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ภายหลังถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ภายหลังถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด ระบุชัดยังต้องดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างแข็งกร้าว และคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป หลังใช้มาแล้วได้รับผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ กดเงินเฟ้อชะลอตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/1) ที่ระดับ 33.04/6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (18/1) ที่ระดับ 32.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากถ้อยแถลงของนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซ็นต์หลุยส์ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างแข็งกร้าว โดยจากการดำเนินนโยบายก่อนหน้านี้ได้รับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวและยังไม่มีเหตุผลในการกลับทิศทางนโยบายการเงินจนกว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการควบคุมเงินเฟ้อ โดยมีความเห็นว่าจุดสูงสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดควรอยู่ระดับเหนือร้อยละ 5 อีกครั้ง

นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ มีความเห็นว่าเฟดจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนกระทั่งเงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย ดอลลาร์สหรัฐจึงมีการแข็งค่าขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ในช่วงหัวค่ำ (18/1) ได้รับแรงกดดันจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอความร้อนแรงลง

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) เดือนธันวาคมขยายตัวที่ระดับ 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 7.3% และขยายตัวน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 6.8% สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) เดือนธันวาคมขยายตัวที่ระดับ 5.5% เมื่อเทียบรายปีขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6.2% และขยายตัวน้อยกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 5.7%

จากตัวเลขดังกล่าวส่งสัญญาณว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในภาคผู้ผลิตผ่านจุดสูงสุดแล้วและยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าดัชนียอดค้าปลีกทั่วไปเดือนธันวาคมเมื่อเทียบรายเดือนหดตัวที่ระดับ 1.1% หดตัวมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 1.0% และหดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่ 0.8% โดยยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเบนซินและยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวลง

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟดและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินต่อไป โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.01-33.165 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (19/1) ที่ระดับ 1.0785/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันพุธ (18/1) ที่ระดับ 1.0870/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว

โดยสำนักงานสถิติยุโรปเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคมขยายตัวที่ระดับ 9.2% เมื่อเทียบรายปี ขยายตัวน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 10.1% แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนธันวาคม ขยายตัวที่ระดับ 5.2% เมื่อเทียบรายปี ขยายตัวมากกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0782-1.0824 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0817/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/1) ที่ระดับ 128.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดวันพุธ (18/1) ที่ระดับ 129.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการอ่อนค่าเมื่อวานนี้จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติดำเนินนโยบายทางการเงินผ่อนคลายพิเศษต่อไปโดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ -0.10 และคงกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีไว้ที่ระดับร้อยละ -0.50 ถึง +0.50 ตามการประชุมครั้งก่อนหน้า ซึ่งมติดังกล่าวสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

อย่างไรก็ตามนักลงทุนส่วนมากคาดการณ์ว่าทาง BOJ จะมีการปรับนโยบายการเงินในเชิงแข็งกร้าวขึ้นในเร็ววัน ซึ่งเป็นผลให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าโดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 127.77-128.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 128.32-35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (19/01) ดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (19/1) และดัชนียอดขายบ้านมือสองในเดือนธันวาคม (20/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.50/-8.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ