ฟันด์โฟลว์ทะลัก 4.5 หมื่นล้าน ต่างชาติแห่ซื้อ “หุ้น-บอนด์” ไทยต่อเนื่อง

เงินทุนต่างชาติทะลัก “หุ้น-บอนด์” ต่อเนื่อง เดือน ม.ค. เข้ามาแล้ว 4.5 หมื่นล้านบาท ดัน “บาทแข็ง” กว่า 5% “ตลาดเงิน-ตลาดทุน” เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หนุนฟันด์โฟลว์เข้าภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง KKP ชี้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเร็วดัน “บาทแข็งเร็ว” “แบงก์ชาติ” ยันไม่ผิดปกติ พร้อมดูแล “แบ่งเบา” ไม่ให้กระทบเกินไป ฟาก “โกลเบล็ก” ประเมินกรอบราคาทองคำเดือน ก.พ. 1,880-1,950 ดอลลาร์/ออนซ์

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย หรือห้องค้ากสิกรไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. เดือนแรกของปี 2566 กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ยังคงไหลเข้าต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

โดยไหลเข้าตลาดพันธบัตร 24,746 ล้านบาท และไหลเข้าตลาดหุ้น 21,238 ล้านบาท รวม 45,984 ล้านบาท (ณ 30 ม.ค.) ส่งผลให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 5.17%

“เราคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง เป็น 0.25% และดอกเบี้ยนโยบายของรัฐเริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุด ซึ่งหลังการประชุมเฟด ถ้าประธานเฟดยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุดแล้ว และพูดถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ก็จะทำให้ภาพรวมเงินดอลลาร์อ่อนแอลงไปอีก ขณะที่เงินบาทและค่าเงินเอเชียจะมีแนวโน้มอยู่ในฝั่งของการแข็งค่าต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ดี นางสาวกฤติกากล่าวว่า ฟันด์โฟลว์ในเดือน ม.ค. 2566 ไหลเข้าชะลอลงกว่าเดือน ธ.ค. 2565 ที่ไหลเข้าทั้งสิ้น 50,234 ล้านบาท แบ่งเป็น ไหลเข้าตลาดพันธบัตร 37,524 ล้านบาท และไหลเข้าตลาดหุ้น 12,710 ล้านบาท ซึ่งห้องค้ากสิกรไทย ประเมินกรอบค่าเงินบาทระยะสั้นอยู่ในฝั่งแข็งค่า 32.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ประเมินฟันด์โฟลว์ในปี 2566 นี้ ต่างชาติน่าจะยังซื้อหุ้นไทยอยู่ เนื่องจากภาพของเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้น แต่ฟันด์โฟลว์ที่เข้ามาคงไม่ได้หนาแน่นเท่าปีที่แล้ว

จากดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นอยู่ เพราะเวลาที่ดอกเบี้ยขาขึ้น ตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่จูงใจมากขึ้น ทำให้เกิดการขายสินทรัพย์เสี่ยงเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น

“ถ้าดูจากต้นปี 2565 ดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ที่ 0.5% แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยปรับขึ้นมาที่ 1.5% ทำให้แรงจูงใจในสินทรัพย์เสี่ยงลดลง และเวลาที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นค่า P/E Ratio ก็จะลดลง ซึ่งปีที่แล้วฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทยทั้งปี 2.03 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้เดือนแรก (ณ 30 ม.ค.) ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นมาแล้ว 21,000 ล้านบาท ส่วนตลาดตราสารหนี้ปีที่แล้วเข้ามา 46,600 ล้านบาท ปีนี้เข้ามาแล้ว 26,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ถ้าดูจากวอลุ่มเทรดจะเห็นได้ชัดเจน โดยในเดือน ม.ค. 2565 มีวอลุ่มเทรดอยู่ที่ 87,000 ล้านบาทต่อวัน แต่เดือน ม.ค.ปีนี้ วอลุ่มเทรดลดลงเหลือ 67,000 ล้านบาทต่อวัน ดังนั้นฟันด์โฟลว์ก็มีโอกาสที่ชะลอตัวลงในกรณีที่ยังเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ตาราง เงินทุน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปีที่จะมีการเริ่มเก็บภาษีขายหุ้น น่าจะกระทบกับฟันด์โฟลว์พอสมควร เนื่องจากมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเกือบทั้งหมดในตลาดมาจากต่างชาติ ก็อาจจะทำให้ฟันด์โฟลว์ชะลอลงได้

นายภราดรกล่าวว่า การประชุมเฟด ทุกคนคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ถ้าเป็นไปตามที่ตลาดคาด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะก่อนหน้านี้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมาโดยตลอด ดังนั้น ถ้ารอบนี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ก็มีโอกาสที่เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนี้

และตลาดคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือน มี.ค. ที่ 0.25% เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี

“ดังนั้นภาวะความกดดันเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะลดน้อยลง และจะทำให้เม็ดเงินบางส่วนที่เคยค้างอยู่ในสินทรัพย์ปลอดภัยต่าง ๆ มีโอกาสกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ ซึ่งหุ้นที่จะได้ประโยชน์มักจะเป็นหุ้น growth stock หรือหุ้นเทคโนโลยีต่าง ๆ จะกลับมาได้รับความสนใจจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ชะลอตัวลง”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาในไทยค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะในพันธบัตรระยะสั้นที่เข้ามามาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทนับตั้งแต่ปลายปีก่อน

จนถึงปัจจุบันแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และเฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้จะในอัตราที่ชะลอลง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และเงินบาทแข็งค่าขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะโฆษก ธปท. กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย และปัจจัยภายนอกที่มาจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะชะลอการปรับดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง

ประกอบกับมีมุมมองบวกต่อการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า และเป็นการแข็งค่าเร็วกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจและเป็นไปตามกลไกตลาด

“การเคลื่อนไหวของเงินบาทเดือน ม.ค. ยังแข็งค่าต่อเนื่องด้วยปัจจัยและสตอรี่เดิม คือ เฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย และจีนเปิดประเทศ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยฤดูการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุน อย่างไรก็ดี ธปท.ยังไม่เห็นการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ที่ผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เราคงดูความผันผวนมากกว่า เพราะผลจากค่าเงินต่อเศรษฐกิจมีน้อยกว่าเศรษฐกิจคู่ค้า ซึ่งเราก็มีการเข้าไปดูแลและแบ่งเบาเพื่อไม่ให้กระทบจนเกินไป”

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำมีประเด็นที่ต้องติดตามหลัก คือการประชุมเฟดที่ตลาดคาดว่าจะปรับขึ้น 0.25% และประกาศตัวเลขภาคแรงงานของสหรัฐ หากตัวเลขต่ำกว่าคาดก็จะหนุนราคาทอง ทั้งนี้ ประเมินกรอบราคาทองคำคาดว่าจะอยู่ที่บริเวณ 1,880-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในเดือน ก.พ.