ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาดู CPI

เงินดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: REUTERS/Dado Ruvic/

ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาดู CPI นักวิเคราะห์คาดเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ ส่วนเงินบาททรงตัวปิดตลาดที่ระดับ 33.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานสภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/2) ที่ระดับ 33.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/2) ที่ระดับ 33.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ โดยตลาดจับตาดูดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในคืนวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวขึ้น 6.2% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 6.5% ในเดือน ธ.ค. และคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.4% ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 5.7% ในเดือน ธ.ค.

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.74-33.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.83/85-33.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/2) ที่ระดับ 132.40/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/1) ที่ระดับ 132.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอชื่อนายคาซูโอะ อุเอดะ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ ต่อจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งจะพ้นวาระในเดือน เม.ย.ปีนี้ โดยนายอุเอดะเป็นนักวิชาการและอดีตสมาชิกคณะกรรมการบริหารของ BOJ

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2565 ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 3 ที่ตัวเลข GDP หดตัวลง 0.8% โดยได้ปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขออกมาต่ำคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะขยายตัว 2.0% ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่จะเผชิญกับความท้าทายในการเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในขณะนี้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.77-132.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 131.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/2) ที่ระดับ 1.0721/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/2) ที่ระดับ 1.0720/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนในปีนี้จะปรับตัวดีกว่าที่วิตกกันก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่หนาวจัด และการสำรองปริมาณก๊าซที่ระดับสูงได้ช่วยผ่อนคลายวิกฤตพลังงาน อีกทั้งยังได้อิทธิพลจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

ขณะที่เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (EU) ในกรุงบรัสเซลส์ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจของ EU จะขยายตัว 0.9% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0719-1.0755 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0759/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ คำกล่าวของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) (15/1), ยอดค้าปลีก (15/1), การผลิตภาคอุตสาหกรรม (15/1), ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยจากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) (15/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (16/1), ดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) (16/2) และดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) (16/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.9/-9.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.2/-5.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ