ญี่ปุ่นเลือก “ม้ามืด” กุมบังเหียน “แบงก์ชาติ”

ญี่ปุ่นเลือกม้ามืด
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์


“ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” ผู้ว่าการธนาคารกลางหรือแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนปัจจุบัน กำหนดหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 เมษายนที่จะถึงนี้

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะ “สุญญากาศ” กระบวนการสรรหาผู้ว่าฯคนใหม่จึงมักเริ่มต้นก่อนหน้านั้นหลายเดือน ก่อนที่รัฐบาลจะต้องเสนอชื่อเพื่อให้ทั้งสองสภาของญี่ปุ่นมีมติให้ความเห็นชอบ

กระบวนการคัดสรรผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่นี้ถือเป็น “ความลับ” สุดยอด เพื่อไม่ให้กระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน ทั้งในและนอกประเทศ มีเพียงคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ล่วงรู้ก่อนล่วงหน้า และทุกคนถูกกำชับให้ “ปิดปาก” สนิท

เมื่อปี 2013 กว่าจะมีข่าวปูดออกมาว่าคุโรดะ ได้รับเลือกเสนอชื่อเป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนใหม่ ก็ห่างจากตอนประกาศชื่ออย่างเป็นทางการเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

ญี่ปุ่นมีขนบธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลก ที่จะคัดสรรผู้ว่าการธนาคารกลางของตนเองจากบรรดา “คนใน” ซึ่งหมายถึงถ้าไม่ใช่บุคคลระดับบริหารของแบงก์ชาติเอง ก็ต้องมาจากกระทรวงการคลัง เช่นในกรณีของคุโรดะ

นั่นทำให้ “ตัวเต็ง” ที่คาดหมายกันว่าจะรับไม้ต่อและสานนโยบายของ คุโรดะ ต่อไปในคราวนี้หนีไม่พ้น “มาซาโยชิ อามามิยะ” รองผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนปัจจุบัน

กระทั่งที่ปรึกษารายหนึ่งของนายกฯคิชิดะต้องออกมาเตือนไว้ว่า ทุกอย่างไม่แน่นอนเสมอไป และยังเป็นไปได้ว่าผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่อาจเป็น “ม้ามืด” ที่คิดกันไม่ถึงก็เป็นได้

ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวสะพัดทั้งในและนอกญี่ปุ่นว่า นายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ตัดสินใจแล้วและเลือกที่จะเสนอชื่อนักวิชาการที่เป็น “คนนอกวง” อย่าง “คาซูโอะ อูเอดะ” ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่

เป็นการตัดสินใจกันตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคม และเป็นการตัดสินใจที่ “ถึงที่สุด” แล้ว

ดังนั้น หากรัฐสภาญี่ปุ่นให้ความเห็นชอบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ครองเสียงข้างมากอยู่ในทั้งสองสภา อูเอดะ ก็จะสร้างประวัติศาสตร์ เป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติญี่ปุ่นคนแรกหลังสงครามโลกที่ไม่ได้มาจากกระทรวงการคลัง หรือจากแบงก์ชาติเอง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมต้องเป็นนักวิชาการที่เป็นคนนอกอย่างอูเอดะ

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่า การเลือกที่จะเสนอชื่อนักวิชาการวัย 71 ปี ที่เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) อย่างอูเอดะ สะท้อนให้เห็นว่า นายกฯ
คิชิดะต้องการให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นอิสระทางการเมืองอย่างชัดเจน

มาซาโตชิ คิคูอิ หัวหน้าทีมวิเคราะห์ของ มิซูโฮ ซีเคียวริตี ระบุว่า อูเอดะมีความเป็นกลางทางการเมืองสูงยิ่ง เขาเชื่อว่า ถ้าหากคนที่ถูกเลือกเป็นอามามิยะ นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดโต่งของญี่ปุ่นคงต้องสิ้นสุดลงเร็วกว่า กะทันหันกว่า การเลือกอูเอดะ เพราะแรงกดดันทางการเมืองภายในพรรคแอลดีพี

นักวิเคราะห์อีกบางส่วนเชื่อว่า การตัดสินใจเลือกอูเอดะในครั้งนี้ เกิดจากการแตกแยกทางความคิดเห็นภายในพรรคแอลดีพี ต่อตัวเลือกที่มีน้อยอยู่แล้ว เนื่องจากมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่อยากรับ “เผือกร้อน” ต่อจากคุโรดะ

การหันมาหาคนนอกที่ “เป็นกลาง” ย่อมดีที่สุด ลดความเสี่ยงที่จะถูก “วีโต้” ในสภาลงนั่นเอง

รายงานของไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า จริงๆ แล้ว อามามิยะ เองนั่นแหละที่เป็นคนเสนอชื่อ อูเอดะ ให้นายกฯคิชิดะ พิจารณา หลังจากที่ปฏิเสธการเสนอชื่อตนเองเป็นแคนดิเดต โดยให้เหตุผลว่า ตนไม่เหมาะสำหรับการทำหน้าที่ “ทบทวน” นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของคุโรดะ “อย่างเป็นธรรม” เพราะมีส่วนร่วมในการนำเสนอมาตั้งแต่ต้น

และการเลือกนักวิชาการที่เป็นคนนอกนั้น ถือเป็น “มาตรฐานสากล” ที่นิยมทำกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี)

อันที่จริง อูเอดะ ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับแบงก์ชาติญี่ปุ่นนัก เพราะเขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของบีโอเจในช่วงระหว่างปี 1998 จนถึงปี 2005 และมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางดำเนินนโยบาย “อัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์” ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 อีกด้วย

แต่หลังจากนั้นก็หันมาทำงานวิชาการในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับนับถือในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญนโยบายการเงิน” ของญี่ปุ่นผู้หนึ่ง

อูเอดะ ในฐานะนักวิจารณ์ เคยออกมาเตือนว่าจะเกิดผลกระทบรุนแรงหากแบงก์ชาติญี่ปุ่นเร่งรีบยกเลิกนโยบายผ่อนคลายทางการเงินสุดโต่งเร็วเกินไป แต่เห็นด้วยว่า นโยบายผ่อนคลายสุดโต่งแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น จำเป็นต้องได้รับการ “ทบทวน” ใหม่

เพราะแบงก์ชาติเองก็จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการออกจากมาตรการเหล่านี้เช่นกัน

บัดนี้ภารกิจสำคัญของการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนนโยบายของญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่ “ภาวะดอกเบี้ยปกติ” อย่างค่อยเป็นค่อยไป คือภารกิจสำคัญในมือของ คาซูโอะ อูเอดะ ไปแล้ว