ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 20 เกษตรกรรับเงิน 1 มี.ค.นี้

ประกันรายได้ข้าว

กรมการค้าภายใน ประกาศ ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 20 ข้าวเปลือกปทุมธานี-ข้าวเปลือกเหนียว ไม่ได้รับชดเชย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 20

สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏว่า ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่มีเกณฑ์กลางตันละ 13,635.69 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 364.31 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,828.96 บาท และข้าวเปลือกเจ้า มีเกณฑ์กลางตันละ 9,901.01 บาท เกษตรกรจะได้รับชดเชยส่วนต่างตันละ 98.99 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 2,969.70 บาท

สำหรับข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน จึงไม่มีส่วนต่างชดเชยในงวดนี้ ดังนี้ ข้าวเปลือกปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,032.87 บาท และข้าวเปลือกเหนียว เกณฑ์กลางตันละ 12,325.32 บาท สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่มีราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว โดยจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์งวดที่ 20 ในวันที่ 1 มีนาคม 2566

สำหรับในงวดที่ 1-19 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้วจำนวน 2.601 ล้านครัวเรือน จำนวน 7,850.76 ล้านบาท และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.627 ล้านครัวเรือน จำนวน 53,917.48 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร. 1569

ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมค้าข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ราคาข้าวภายในประเทศยังทรงตัวเนื่องจากข้าวฤดูกาลใหม่ยังไม่ออกสู่ตลาด และผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้มีแนวโน้มเริ่มอ่อนตัวลง ส่งผลให้เริ่มมีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงมีโอกาสในการส่งออกข้าวไทยในอนาคต เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะส่งออกได้น้อยลง ซึ่งเป้าหมายในการส่งออกข้าวของไทยยังคงตั้งเป้าที่ 7.5 ล้านตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเป็นไปได้

ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 20