ธปท.ปิดโกดังพักหนี้ 7 หมื่นล้าน โรงแรมฟื้นเจ้าของดีลซื้อคืน

โรงแรมฟื้น

แบงก์ชาติปิดจ็อบมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” 9 เม.ย.นี้ ปล่อยสินเชื่อกว่า 7 หมื่นล้านบาท ช่วยชีวิตผู้ประกอบการโรงแรม-ท่องเที่ยวราว 466 ราย “กสิกรไทย” เผยอุ้มลูกหนี้เข้าโกดังพักหนี้เกือบ 3 หมื่นล้าน ยังเร่งเจรจาเพิ่มอีก 1-2 ราย แบงก์กรุงเทพเห็นสัญญาณลูกค้าโรงแรมขอไถ่ถอนทรัพย์ก่อนกำหนดเหตุท่องเที่ยวฟื้นตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ต่ออายุมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ที่จะครบกำหนด 9 เม.ย. 66 นี้ โดยข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 7 มีนาคม 2566 มาตรการพักทรัพย์-พักหนี้ ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่เข้าโครงการจำนวน 466 ราย เป็นเงินไปแล้ว 70,781 ล้านบาท โดยวงเงินรวมของมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ 100,000 ล้านบาท

ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบให้โอนวงเงินที่เหลือไปอยู่ภายใต้โครงการ “สินเชื่อฟื้นฟู-สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ซึ่ง ครม.มีมติขยายอายุมาตรการไปอีก 1 ปี และล่าสุดมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 220,143 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 60,766 ราย

ทั้งนี้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ของ ธปท. เป็นกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อหยุดภาระหนี้ชั่วคราวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ในการซื้อทรัพย์คืนกลับได้ใน 3-5 ปี โดยในระหว่างนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์เพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อได้ โดยในระหว่าง 3-5 ปี สถาบันการเงินไม่สามารถนำทรัพย์ที่รับโอนไปขายให้บุคคลอื่นได้ เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจมีหนังสือแจ้งสถาบันการเงินว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิซื้อทรัพย์ดังกล่าวคืน

เคแบงก์อุ้มโรงแรม 3 หมื่นล้านบาท

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าเข้ามาตรการกว่า 25,000-30,000 ล้านบาท ถือว่าสูงเป็นอันดับ 1 ของทั้งระบบที่มีการอนุมัติสินเชื่อไปกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิโรงแรม และขณะนี้ธนาคารยังอยู่ระหว่างพูดคุยกับลูกค้าอีก 1-2 รายที่จะเข้าร่วมโครงการก่อนจะปิดโครงการในวันที่ 9 เมษายนนี้

โดยลูกค้าที่เข้าโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทยอยครบกำหนดไถ่ถอน 3 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งธนาคารจะเริ่มคุยกับลูกค้าที่จะมาขอสินเชื่อซื้อทรัพย์คืนจากธนาคาร แต่ปัจจุบันยังไม่พบสัญญาณการขอไถ่ถอนทรัพย์ก่อนกำหนด เนื่องจากผู้ประกอบการรอดูสถานการณ์ท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาจริงหรือไม่ หากไม่ได้มาตามคาดอาจจะกระทบสภาพคล่องอีก

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ลูกค้าได้รับค่อนข้างต่ำเฉลี่ย 1% ต่อปี หากออกจากโครงการอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3-4% ซึ่งแพงขึ้น ทำให้ลูกค้าบางส่วนยังคงตัดสินใจอยู่ในโครงการก่อน อย่างไรก็ดี หากลูกค้ามีความประสงค์ไถ่ถอนทรัพย์ก่อนกำหนด 3 ปี สามารถทำได้เช่นกัน โดยธนาคารจะต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทราบเป็นรายกรณี

หนุนธุรกิจใช้สินเชื่อปรับตัว

“ตอนนี้ลูกค้ายังเอ็นจอยกับดอกเบี้ย 1% เพราะถ้าออกจากโครงการดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทันที ซึ่งคงต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ แม้ว่าการท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัว ซึ่งเราเชื่อว่าลูกค้าของเราค่อนข้างดี เป็นกลุ่มที่ต้องการซื้อคืนสินทรัพย์จริง ๆ ไม่ใช่กลุ่มทุนต่างประเทศ โดยสัดส่วนลูกค้าที่เข้าโครงการประมาณ 90% เป็นโรงแรม และที่เหลืออีก 10% จะเป็นโชว์รูม จิวเวลรี่ หรืออสังหาริมทรัพย์” นายชัยยศกล่าวและว่า

สำหรับสินเชื่อฟื้นฟูที่เปลี่ยนมาเป็นสินเชื่อเพื่อการปรับตัว (Transformation Loan) พบว่า มีลูกค้าธุรกิจให้ความสนใจใช้บริการเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือการติดตั้งโซลาร์รูฟ แต่จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่ผันผวนจากแข็งค่าเป็นอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 10% ทำให้ลูกค้าบางส่วนชะลอการตัดสินใจ โดยช่วงต้นปี-กุมภาพันธ์ 2566 มีลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อเพื่อการปรับตัวแล้วกว่า 400 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามนโยบายหลักของธนาคารสู่ Go Green และส่วนหนึ่งลูกค้าสามารถบริหารต้นทุนการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ได้อีก 5 ปีข้างหน้าในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ปัจจุบันดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 6% ต่อปี

ลูกหนี้ยังไม่พร้อมไถ่ถอน

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าที่อยู่ในโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” คิดเป็นยอดสินเชื่อประมาณ 6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ของสินเชื่อรวม ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี พอร์ตสินเชื่อของธนาคารที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดประเทศช่วงโควิด-19 มีขนาดไม่ใหญ่ ประมาณ 1% ของสินเชื่อรวม

โดยปัจจุบันธนาคารได้มีการติดต่อลูกค้าที่อยู่ภายใต้โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” สม่ำเสมอ เพื่อประเมินสภาพคล่องของลูกค้า ซึ่งธนาคารจะมีการช่วยเหลือผ่านโปรแกรมการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ หากลูกค้าต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ลูกค้าที่เข้าโครงการยังไม่มีสัญญาณที่จะขอไถ่ถอนทรัพย์ก่อนกำหนด แม้ว่าธุรกิจโดยรวมจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงรอประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจอีกสักระยะหนึ่งก่อน

ทีทีบีเร่งดันสินเชื่อปรับตัว

นายศรัณย์กล่าวว่า สำหรับสินเชื่อฟื้นฟู ณ เดือนมกราคม 2566 รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท ลูกค้ากว่า 2,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อุตสาหกรรมการผลิตและพาณิชย์ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่ต้องการเข้าโครงการน้อยลงมาก เนื่องจากสถานการณ์ลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ขณะที่สินเชื่อเพื่อการปรับตัว ธนาคารได้ทำ product program แล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาวงเงินสินเชื่อให้ลูกค้าบางส่วน และมีลูกค้าจำนวนมากให้ความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต้องการลงทุนเพื่อขยายกิจการ หรือลงทุนเพื่อปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของพลังงานทดแทนและกระแสดิจิทัล แต่จากข้อจำกัดด้านวัตถุประสงค์การขอสินเชื่อ ทำให้การพิจารณาต้องรอบคอบและใช้เวลา จึงมองว่ายอดสินเชื่อเพื่อการปรับตัวน่าจะมียอดการอนุมัติสินเชื่อต่ำกว่าสินเชื่อฟื้นฟู

“ธปท.ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อฟื้นฟูออกไปอีก 1 ปี ถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกค้าที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือมากขึ้น”

แห่ขอสินเชื่อติดตั้งโซลาร์รูฟ

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสัญญาณการเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมา ส่งผลให้ลูกค้ากลุ่มบริการที่เข้าโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ เช่น กลุ่มโรงแรม หรือเกี่ยวข้องกับท่องเที่ยว ปัจจุบันมีลูกหนี้เข้ามาเจรจาไถ่ถอนทรัพย์ที่อยู่ในโครงการก่อนครบกำหนด 3 ปี และมีบางรายเพิ่งเข้าร่วมก่อนที่ ธปท.จะปิดโครงการวันที่ 9 เมษายน 2566 นี้

ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มีลูกค้าทยอยเข้ามาขอวงเงินสินเชื่อต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการปรับตัวที่มีการปล่อยสินเชื่อกว่า 50% ของวงเงินทั้งหมด เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟ การเปลี่ยนเครื่องจักรสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น และแนวโน้มในปีนี้ลูกค้ายังทยอยเข้ามาขอวงเงินสินเชื่อต่อเนื่อง

“สถานการณ์เอสเอ็มอีภาพรวมยังคงต้องดูแลใกล้ชิด แต่เริ่มเห็นสัญญาณภาคบริการปรับดีขึ้นตามภาคท่องเที่ยว สะท้อนผ่านลูกค้าที่เข้ามาเจรจาไถ่ถอนทรัพย์ แต่ก็มีบางรายที่ทนในช่วงโควิดได้ แต่เริ่มไม่ไหวก็เพิ่งเข้ามา”