ชง พ.ร.ก.คุมเงินดิจิทัล-ICO สรรพากรอุดช่องโหว่เลี่ยงภาษี

คณะทำงานศึกษาคุม ICO-เงินดิจิทัล ประชุมกฤษฎีกา ยันต้องออกกฎหมายเร่งด่วนป้องกันความเสี่ยง เสนอ 2 แนวทางรัฐบาลเคาะ “ม.44-พ.ร.ก.” ฟากคลัง-สรรพากรร้อนใจกระแสการระดมทุน ICO กลายเป็นช่องโหว่ธุรกิจเลี่ยงภาษี อธิบดีประกาศไล่ต้อนเก็บภาษีย้อนหลังแจงอายุความ 10 ปี ตลท.หารือสภาวิชาชีพบัญชีเรื่องการบันทึกบัญชี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะที่คณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ประกอบด้วย 4 หน่วยงานรัฐ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อยู่ระหว่างการหารือแนวทางการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล หรือ ICO (initial coin offering) รวมทั้งเรื่องสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) และสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงสุญญากาศ ไม่มีการกำกับดูแล ทำให้ภาคธุรกิจสบช่องเร่งออก ICO ขณะที่ในแวดวงการเงินยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า วิธีการระดมทุนแบบใหม่นี้อาจเป็นการเปิดช่องให้ภาคธุรกิจเลี่ยงภาษีได้ เนื่องจากเป็นรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีแนวปฏิบัติใด ๆ ที่ชัดเจน

ชง พ.ร.ก.คุมคริปโตฯ

แหล่งข่าวจากคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้องยอมรับว่าการจะกำกับการระดมทุนด้วยคริปโตฯค่อนข้างหาข้อสรุปได้ยาก เนื่องจากมีส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปง. ก็จะต้องคุมในเรื่องการฟอกเงิน ขณะที่ ธปท.ก็ต้องพิจารณาในมุมธุรกรรมการชำระเงิน (เพย์เมนต์) ส่วน ก.ล.ต.ก็จะเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านหลักทรัพย์

“ตอนนี้พอมีหลักเกณฑ์กันแล้วว่าควรจะออกมาเป็นอย่างไร โดยมีการยกร่างกฎหมายไว้แล้ว และล่าสุดได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ จึงเห็นว่าควรจะต้องเร่งออกกฎหมายมากำกับดูแลอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยจะได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะใช้อำนาจตามม.44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือจะออกเป็นพระราชกำหนดในสัปดาห์หน้า” แหล่งข่าวกล่าว

คลังเตรียมไล่บี้ภาษี

Advertisment

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาว่า การเก็บภาษีจากการระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัลจะจัดเก็บอย่างไร ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากต้องรอสรุปผลศึกษาของ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

“ตอนนี้เรื่องเก็บภาษีจะเก็บอย่างไรยังไม่รู้ แต่กรมสรรพากรก็ดูอยู่ ถ้ามีเงินได้เกิดขึ้นก็ต้องเก็บภาษี ส่วนเรื่องวิธีการลงบัญชีในงบการเงิน ต้องเป็นเรื่องของสภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้ชี้” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ได้มีการไปประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและนิยามของธุรกรรม (transaction) ต่าง ๆ

“เรื่องการเก็บภาษี ต้องชัดก่อนว่าทรานแซ็กชั่นคืออะไร เช่น ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการก็ต้องมีการเสีย VAT หรือถ้าไม่ใช่ เป็นหลักทรัพย์ ก็ต้องเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ ตอนนี้ทางกรมสรรพากรก็รอให้ออกมาชัดเจนก่อน” นายพรชัยกล่าว

Advertisment

สรรพากรขู่เช็กบิลย้อนหลัง

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การจะเก็บภาษีการระดมทุนด้วยคริปโตฯ กรมสรรพากรจะพิจารณาตามนิยามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก่อนว่า ธุรกรรมระดมทุนที่เกิดขึ้นเป็นการซื้อ/ขายอะไร จากนั้นกรมสรรพากรจึงจะสามารถเข้าไปประเมินเก็บภาษีได้ ตามประเภทของการซื้อ/ขายนั้น

“ต้องรอให้มีการกำหนดนิยามก่อนว่า ธุรกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการซื้อ/ขายอะไร เป็นรายรับหรือรายจ่าย เป็นรายได้อะไร ส่วนภาษี เราสามารถปรับตามได้ จะขยับไปทางไหนก็เกี่ยวกับภาษีหมดจะเป็นสินทรัพย์ เป็นสินค้า หรือเป็นการกู้เงิน ต้องชัดก่อนว่าเป็นอะไร”

นายประสงค์กล่าวว่า กรมสรรพากรจะต้องหารือกับกฤษฎีกา และ ก.ล.ต.ให้ชัดเจนก่อนในเรื่องนิยามของธุรกรรม โดยยอมรับว่าการระดมทุนด้วยการออก ICO ของบางบริษัทที่ผ่านมา ก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้ว กรมสรรพากรก็สามารถจัดเก็บภาษีได้ ซึ่งรวมถึงรายที่มีการระดมทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็สามารถประเมินภาษีย้อนหลังไปได้ เนื่องจากอายุความทางภาษีมีอายุ 10 ปี

“ตอนนี้เรื่องการลงบัญชีก็ยังตอบไม่ได้ชัดเจน อย่างกรณีเจมาร์ทที่ออกมาก่อนหน้านี้ ธุรกรรมเป็นอะไร เงินที่ให้ หรือเงินที่ได้รับ หรือลงบัญชีจะบันทึกเป็นหนี้สินหรือทุน ก็ต้องรอตีความก่อน ถ้าตีความออกมาแล้ว เรื่องภาษีก็ได้ เพราะอายุความ 10 ปี ก็ได้หมด” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ทำธุรกรรมแล้วมีกำไรก็ต้องถูกเก็บภาษีส่วนต่างกำไร (capital gain tax) ด้วย

ตลท.จี้ บจ.เปิดเผยข้อมูล ICO

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สำหรับทิศทางของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีทำ ICO เพิ่มมากขึ้นนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเน้นใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่องความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้มาลงทุน โดยในส่วนของ บจ.หรือบริษัทลูกที่ไประดมทุน ICO เพราะอาจมีผลกระทบต่อชื่อเสียงหรือต่อฐานะการเงินของ บจ.ได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการบันทึกทางบัญชีว่าต้องลงอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯได้สอบถามไปทางสภาวิชาชีพบัญชีแล้ว ซึ่งได้คำตอบกลับมาว่าสามารถดำเนินการบันทึกได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ระดมทุนมีการเขียนความรับผิดชอบไว้ในไวต์เปเปอร์ด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกโปรเจ็กต์จะบันทึกเหมือนกันหมด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของไวต์เปเปอร์แต่ละบริษัท

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมออกคำแนะนำการลงทุน ICO ให้นักลงทุนรายย่อยภายในเดือน มี.ค.นี้ บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยได้พิจารณาตามคำแนะนำหากเข้าไปลงทุนใน ICO เช่น ผลตอบแทน ความเสี่ยงในการลงทุน ฯลฯ เพื่อช่วยให้นักลงทุนได้รู้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุน เพราะขณะนี้มี บจ.และบริษัทไม่จดทะเบียนมีการระดมทุน ICO แล้ว