กรมศุลฯ โชว์เก็บรายได้ 6 เดือน สูงกว่าปีก่อนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

ส่งออก-นำเข้า

กรมศุลกากรเผยครึ่งปีงบประมาณ 2566 เก็บรายได้กว่า 6.7 หมื่นล้านบาท สูงกว่า “ปีก่อน-ประมาณการ” กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท จากการนำเข้าขยายตัว-ชำระอากรตามคำพิพากษา ส่วนยอดจับกุมกว่า 1.6 หมื่นคดี เป็นเงินกว่า 1.7 พันล้านบาท

วันที่ 25 เมษายน 2566 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ รองอธิบดีกรมศุลกากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีงบประมาณแรก ของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565-มี.ค. 2566) กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 346,577 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 26,294 ล้านบาท หรือ 8.2% โดยการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 67,322 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 14,282 ล้านบาท หรือ 26.9% เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัว ประกอบกับมีการชำระอากรตามคำพิพากษาคดี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,622 ล้านบาท หรือ 27.7%

ส่วนในด้านการจัดเก็บแทนหน่วยงานอื่น 279,255 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 12,013 ล้านบาท (ปีก่อน 267,242 ล้านบาท) หรือ 4.5% ได้แก่

  • จัดเก็บแทน กรมสรรพากร 206,535 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 3,794 ล้านบาท หรือ 1.9%
  • จัดเก็บแทน กรมสรรพสามิต 45,247 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 7,089 ล้านบาท หรือ 18.6%
  • จัดเก็บแทน กระทรวงมหาดไทย 27,473 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,130 ล้านบาท หรือ 4.3%

โดยสินค้านำเข้าหลักที่จัดเก็บอากรได้สูง ได้แก่ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบยานยนต์ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และกระเป๋า

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2566 กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 60,416 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 274 ล้านบาท (ปีก่อน 60,141 ล้านบาท) หรือ 0.5% สำหรับการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 11,187 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,411 ล้านบาท (ปีก่อน 9,775 ล้านบาท) หรือ 14.4% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,987 ล้านบาท หรือ 21.6%

Advertisment

นายพันธ์ทองกล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2565-มีนาคม 2566 มีการจับกุมจำนวน 16,529 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 1,777,600,000 บาท โดยกรมศุลกากร มีนโยบายในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด สินค้าเกษตร น้ำมัน IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า

นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration : DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวสารระหว่างกัน