ดอลลาร์อ่อนค่าลง นักลงทุนจับตาการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.31/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (7/3) ที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 9 ปีในเดือนมกราคม โดยเพิ่มขึ้น 5.0% สู่ระดับ 5.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จากระดับ 5.39 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนเพิ่มขึ้น 16.7% สู่ระดับ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ขณะที่สหรัฐขาดดุลการค้าต่อแคนาดามากที่สุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 235,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ตำแหน่ง หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 244,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ในขณะที่นายโรเบิร์ด แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นโดยตรงต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กอะลูมิเนียม โดยนายโรเบิร์ต แคมแลน กล่าวว่ายังเร็งเกินไปที่จะบอกว่ารัฐบาลจะบังคับใช้นโยบายอะไร ซึ่งงานของนายโรเบิร์ต แคปแลน ไม่ใช่เป็นการวิเคราะห์ หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับสมมติฐานใด ๆ นอกจากนี้นักลงทุนจับตามองตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ (9/3) ทั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์การจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้ืน 200,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.29-31.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.35/31.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (8/3) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2409/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (7/3) ที่ระดับ 1.2415/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนปี 2560 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.3% ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 2.5% ทั้งนี้รายงานระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนตลอดทั้งปี  2560 ขยายตัว 2.3% ขณะที่ GDP ของสหภาพยุโรป (EU) ขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบกับระดับการขยายตัวเมื่อปี 2559 ซึ่ง GDP ของยูโรโซนขยายตัวที่ 1.8%และ EU ขยายตัวที่ 2.0% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2385-1.2415 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2384/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (8/3) เปิดตลาดที่ระดับ 106.12/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (7/3) ที่ระดับ 105.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2560 ขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งระบุว่า GDP ขยายตัวเพียง 0.5% โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของยอดการใช้จ่ายภาคเอกชน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของตัวเลข GDP นั้น ขยายตัว 0.5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการเบื้องต้น ส่วนการลงทุนในภาคาสาธารณะ ปรับตัวลดลง 0.2% ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวลดลง 0.5% นอกจากนี้กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 6.074 แสนล้านเยน (5.7 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนมกราคม นับเป็นการเกินดุลเดือนที่ 43 ติดต่อกัน ขณะที่การค้าสินค้าต่าง ๆ นั้บขาดดุลอยู่ที่ 6.666 แสนล้านเยน โดยต้นทุนของทรัพยากรธรรมชาติที่สูงขึ้นนั้นได้กระตุ้นมูลค่าการนำเข้าโดยรวม และส่งผลต่อยอดเกินดุลการค้า ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 105.89-106.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 106.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐทีสำคัญทีีต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/3) ดุลการค้าเยอรมนี (9/3) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (9/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง  (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.15/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment