CIMBT ชูแผนบริหารเสี่ยงปี’61 คัดลูกค้าดีเข้าพอร์ตสกัด NPL

นายอาทิตย์ มาสถิรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ปี 2561 นี้ ธนาคารยังมีความเสี่ยงหลายด้านที่ท้าทายขึ้น ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ความเสี่ยงด้านดิจิทัล และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ โดยเมื่อโฟกัสที่กลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ พบว่าเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอี สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สะท้อนจากกลุ่มลูกหนี้ที่ไหลตกชั้น SM (Special Mentioned Loans หรือลูกหนี้ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ แต่ยังไม่ถึงชั้นเอ็นพีแอล) มีปริมาณลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้

สำหรับการบริหารจัดการหนี้เสียของทาง CIMBT จะเริ่มตั้งแต่การคัดลูกค้าสินเชื่อ โดยเพิ่มเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อที่มีความสามารถมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาก่อนลูกค้าตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล นอกจากนี้ปัจจุบันลูกค้าใหม่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (ยอดขายไม่เกิน 10 ล้านบาท/ปี) มีเอ็นพีแอลไม่ถึง 5% ของสินเชื่อรวม จากเดิมที่บางประเภทสินเชื่อของธนาคารจะมีเอ็นพีแอลสูงถึง 20-30%

ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็นพีแอลรวมของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 5% ของสินเชื่อรวม ซึ่งจะทยอยบริหารหนี้เสียผ่าน 3 วิธี ได้แก่ ตัดขายหนี้ รีไฟแนนซ์ และ ติดตามหนี้ โดยในปี 2560 ธนาคารได้ตัดขายหนี้ราว 3,700 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5,100 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารอื่น ๆ ก็เทขายหนี้เสียออกมาเช่นกัน และคาดว่าในปีนี้ จะยังคงเห็นธนาคารทั้งระบบตัดขายหนี้เสียอีกหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งทาง CIMBT จะเน้นความเหมาะสมด้านราคา หากราคาขายหนี้เสียลดลงกว่าราคาที่ตั้งไว้ 20-30% หรือจะขาดทุน ก็อาจจะไม่ขาย

“การบริหารหนี้จะเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจแบงก์พาณิชย์ ในขณะเดียวกันปีที่ผ่านมาแบงก์พาณิชย์โดยรวมมีกำไรน้อยลง ทั้งเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น ด้านรายได้ค่าฟี (ค่าธรรมเนียม) ที่หดตัว ทำให้แบงก์จะต้องหาอย่างอื่นมาชดเชย ซึ่งเรื่องที่ทำง่ายที่สุดคือเลิกแข่งขันหั่นดอกเบี้ยกู้ในตลาด” นายอาทิตย์กล่าว

ส่วนการตั้งสำรองหนี้ฯ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่จะเริ่มในปี 2562 จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะต้องตั้งสำรองในหมวดต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20% ดังนั้นอาจจะส่งผลให้ธนาคารต่าง ๆ หันมาขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือดี หรือมีหลักประกันเพิ่มมากขึ้น

“CIMBT ได้เตรียมรับมือกับ IFRS9 รวมถึงสัดส่วนสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ให้เกิน 100% ไว้แล้ว” นายอาทิตย์กล่าว