ดอลลาร์อ่อนค่า หลังภาคบริการอ่อนแอ จับตาการเมืองไทย-ถ้อยแถลงเฟด

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า
ภาพ : pixabay

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังภาคบริการอ่อนแอจับตาการเมืองไทย และถ้อยแถลงเฟด ขณะที่นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 34.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 34.43/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเป็นผลมาจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ถูกเปิดเผยโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ (2/6) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 339,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 190,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งอยู่

ในขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3%

สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และในคืนวันจันทร์ (5/6) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (PMI) เดือนพฤษภาคมของสหรัฐที่ 50.6 ลดลงจากเดือนเมษายนที่ 51.9

ทางด้านเฟดสาขาแอตแลนตาได้เปิดเผยแบบจำลอง GDPNow ล่าสุด ในวันที่ 3 มิถุนายน โดยแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.0% ในไตราส 2/2566 หลังจากขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1 ส่วนทาง FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน และให้น้ำหนักเพียง 27.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% เนื่องจากข้อมูลค่าจ้างแรงงานขยายตัวปานกลางในเดือนพฤษภาคม

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า เขาเตรียมลงนามในข้อตกลงขยายเพดนหนี้ที่ทางวุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติผ่านร่างกฎหมายการขยายเพดานหนี้และปรับลดการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นเวลา 2 ปี ด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 36 เสียงเมื่อช่วงสายของวันศุกร์ (2/5) เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายก่อนเส้นตายในวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าในระหว่างวัน ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 0.53% ชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.96%

ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.55% ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.98% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.72-34.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 1.0714/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/6) ที่ระดับ 1.0768/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เป็นผลมาจากในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายนทางสำนักงานสถิติเยอรมนีได้มีการระบุยอดส่งออกของเยอรมนีในวันจันทร์ (5/6) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 2.5% โดยได้แรงหนุนจากการที่จีนเปิดประเทศช่วงหลังโควิด-19

ทั้งนี้ ยอดส่งออกเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากยอดส่งออกไปยังจีนที่เพิ่มขึ้น 10.1%, สหรัฐเพิ่มขึ้น 4.7% และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนยอดนำเข้าลดลง 1.7% เมื่อเทียบรายเดือนสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โดยตัวเลขดังกล่าวนั้นส่งผลให้เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้า 1.84 หมื่นล้านยูโร (1.968 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.49 หมื่นล้านยูโรในเดือนมีนาคม

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) ประจำเดือนพฤษภาคมขอหลายประเทศในสหภาพยุโรปซึ่งส่วนมากออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยดัชนีดังกล่าวของประเทศสเปนอยู่ที่ 56.7 ลดลงจาก 57.9 เมื่อเดือนเมษายน, ประเทศอิตาลีอยู่ที่ 54.0 จาก 57.6, ประเทศฝรั่งเศสอยู่ที่ 52.5 จาก 54.6 ในขณะที่ประเทศเยอรมนีปรับตัวอยู่ที่ ระดับ 57.2 จาก 56.0 ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ทั้งนี้ยังคงต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 57.8 โดยการที่ตัวเลขอยู่เหนือระดับนั้นบ่งชี้ว่าภาคบริการทุกประเทศยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0701-1.0720 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0701/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/6) ที่ระดับ 139.54/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/6) ที่ 138.76/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อช่วงสายของวันจันทร์ (5/6) ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) ประจำเดือนพฤษภาคมของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอยู่ที่ระดับ 55.9 จาก 55.4 เมื่อเดือนเมษายน แต่ยังคงต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 56.3

ทั้งนี้การที่ตัวเลขอยู่เหนือระดับ 50 นั้นบ่งชี้ว่าภาคบริการอยู่ในภาวะขยายตัว โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.25-139.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.27/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสหรัฐสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า ส่งออก และดุลการค้าเดือนพฤษภาคม (7/6), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (7/6), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/6) และสต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งพฤษภาคม (8/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.50/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.85/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ