ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ ตลาดจับตาการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (12/3) ที่ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9/3) กระทวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ก.พ. โดยเพิ่มขึ้น 313,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 1 ปีครึ่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.15% โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% สู่ระดับ 26.75 ดอลลาร์และเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งในช่วงกลางสัปดาห์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ท่ามกลางความไม่พอใจจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ออกรายงานเดือนกว่า การที่สหรัฐตัดสินใจใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมนั้น อาจก่อให้เกิดสงครามการค้า และอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงเงินสูงถึง 4.7 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2563 ขณะที่วันพุธ (14/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 0.5% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้การชะลอตัวของดัชนี CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ มีสาเหตุจากการร่วงลงของราคาน้ำมันเบนซิน ขณะที่ราคาอาหารทรงตัว หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมกราคม นอกจากนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หลังเกิดความขัดแย้งด้านนโยบายต่างประเทศหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำการโยกนายไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนนายกเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ในวันพฤหัสบดี (15/3) มีการประกาศยอดค้าปลีกปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2555 ที่ยอดค้าปลีกลดลง 3 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลง 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% โดยยอดค้าปลีกที่ปรับตัวลง ได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของยอดขายรถยนต์ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ปรับตัวขึ้น 0.1% ในขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน ก.พ.เมื่อเทียบรายเดือนหลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมกราคม โดยการดีดตัวขึ้นของดัชนี PPI ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในภาคบริการดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร พลังงาน และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% เช่นกันในเดือนมกราคม นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายเดือนสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และในวันศุกร์มีการเปิดเผยข้อมูลขอรับสวัสดิการครั้งแรกลดลงสู่ 226,000 ตำแหน่ง ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 227,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การประชุมเฟดที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 20-21 มีนาคม โดยระยะสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.11-31.35 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (16/3) ที่ระดับ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2333/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/3) ที่ระดับ 1.2301/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9/3) สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี เปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือน ม.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% ในขณะที่ตัวเลขดุลการค้าของเยอรมนี เกินดุล 21,300 ล้านยูโร มากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเกินดุล 21,200 ล้านยูโร ในวันอังคาร (13/3) นายเบนัวต์ โคเออร์ สมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำมากต่อไป จากอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายคำกล่าวของนายโคเออร์บ่งชี้ว่า ECB ยังไม่มีแนวโน้มที่จะถอนตัวออกจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในเร็ว ๆ นี้ แม้ ECB จะมีการตัดข้อความที่ระบุว่า “ECB อาจเพิ่มวงเงิน QE หรือขยายเวลาใช้มาตรการ QE หากมีความจำเป็น” ออกจากแถลงการณ์ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกข้อความดังกล่าวบ่งชี้ว่า ECB กำลังเตรียมชะลอและยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในไม่ช้า หลังจากที่ได้ดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซนก่อนหน้านี้ ในขณะที่วันพฤหัสบดี (15/3) นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าขั้นตอนแน่นอนในการยกเว้นการเก็บภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้าของสหรัฐจะออกมาในรูปแบบใด โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 15 วัน ในขณะที่สหภาพยุโรปพร้อมใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2303-1.2413 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2319/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (12/3) ที่ระดับ 106.68/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/3) ที่ระดับ 106.70/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9/3) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตร โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระยะยาว ให้เคลื่อนไหวที่ระดับ 0% โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันนี้ว่า BOJ อาจจะเพิ่มมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น เพื่อให้ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะที่ในวันอังคาร (13/3) นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความต้องการให้นายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสืบสวนกรณีที่รัฐบาลขายที่ดินให้กับโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในราคาต่ำกว่าการประเมิน โดยมีชื่อของนางอากิเอะ อาเบะ ภริยาของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกรงว่าเรื่องดังกล่าวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งทางกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ยอมรับในว่า ทางกระทรวงได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในเอกสารที่ดินของรัฐซึ่งขายให้กับโรงเรียนแห่งหนึ่งในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาค้าส่ง (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันและราคาโลหะนอกกลุ่มเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้แม้ดัชนี PPI ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 แต่ดัชนี PPI เดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวในอัตราช้าลงจากเดือนมกราคมที่ขยายตัว 2.7% ซึ่งได้แรงหนุนจากการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.63-107.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาด ที่ระดับ 105.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ