สมาคมประกันวินาศภัยไทยเร่งตรวจสอบนายหน้าต่างชาติโกงขายประกันภัยสัตว์เลี้ยง ร่อนหนังสือถามประเทศถูกกล่าวอ้าง พบไม่มีตัวตนจริง แฉตั้งบริษัทบนเกาะสมุยรับทำประกันเถื่อน จับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติพำนักในประเทศไทย หวั่นกฎหมายเอาผิดไม่ถึง แนะผู้เสียหายรวมตัวแจ้งความร้องทุกข์ฐานฉ้อโกง เล็งโอนคดีให้ “ดีเอสไอ” ทำเป็นคดีพิเศษ
นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า กรณีที่มีบริษัทประกันภัยต่างชาติได้ขายประกันภัยสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีประชาชนจำนวนมากซื้อประกันภัยและได้รับความเดือดร้อนจากการเคลมสินไหมประกันภัยดังกล่าว
เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า บริษัทผู้ขายหรือผู้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย
ขณะเดียวกันทางสมาคมได้มีการตรวจสอบไปยังสมาคมประกันวินาศภัยสิงคโปร์ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างถึงการเป็นนายหน้าของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งพบว่ายังไม่ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทที่ถูกอ้างเป็นบริษัทนายหน้าอย่างถูกต้องในสิงคโปร์
รวมถึงจากการกล่าวอ้างถึงการเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยในประเทศอังกฤษ ทางสมาคมก็ได้ทำหนังสือขอตรวจสอบไปยังสมาคมประกันวินาศภัยอังกฤษแล้วเช่นกัน ซึ่งขณะนี้กำลังรอการตอบกลับมา
“ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารร่วมกับคณะกรรมการกฎหมายของสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบและจัดการในเรื่องนี้ โดยเราไม่ได้จำกัดว่าบริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้ามาขายประกันในประเทศไทยได้ แต่ต้องมาแบบถูกกฎหมาย และผู้เอาประกันภัยต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างถูกต้องด้วย”
นายอรัญ ศรีว่องไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องนี้เริ่มต้นตรงที่มีการร้องเรียนว่าได้ทำประกันภัยสัตว์เลี้ยง แต่เมื่อสัตว์เลี้ยงเกิดการเจ็บป่วย ไม่สามารถเบิกเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ได้
ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การอ้างเป็นบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศอังกฤษ เริ่มต้นด้วยการรับทำประกันชีวิตก่อน ซึ่งทำมานานแล้วด้วย บางกรมธรรม์มีอายุกว่า 10 ปี แต่ยังไม่มีลูกค้าเคลม และต่อมาเมื่อประมาณ 1-2 ปีนี้เอง ได้ขยายกิจการมารับทำประกันภัยสัตว์เลี้ยง จนกลายเป็นประเด็นปัญหา
ส่วนบริษัทนายหน้ารายนี้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนขายให้กับบริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศอังกฤษนั้น ก็พบว่าได้แจ้งระบุที่ตั้งอยู่ที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะฉะนั้นข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ จังหวัดภูเก็ต, พัทยา, เกาะสมุย หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จะมีกลุ่มบุคคลที่ทำเรื่องเหล่านี้อยู่ค่อนข้างมาก
เนื่องจากจะมีชาวต่างชาติที่อยากจะเข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการทำกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ทำให้บริษัทดังกล่าวใช้โอกาสตรงนี้
“จากการหารือกับคณะกรรมการกฎหมายของสมาคมพบว่ากฎหมายไทยในปัจจุบันบางฉบับเอื้อมไปไม่ถึง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ที่แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่จะไปจับคนผิดได้อย่างไร
เพราะเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย และบริษัทนายหน้าที่ขายประกันไม่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่กับสำนักงาน คปภ. จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดีสมาคมพยายามให้คำแนะนำและย้ำเตือนประชาชนต่อไป”
นายอรัญกล่าวด้วยว่า ได้มีการพูดคุยกันว่าผู้เสียหายทั้งหมดควรรวมตัวไปแจ้งความร้องทุกข์ฐานฉ้อโกงประชาชน นอกจากนี้ สมาคมเองได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อหารือและจะมอบคดีนี้ให้ดำเนินการต่อไป
นายประสิทธิ์ คำเกิด ประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ประเด็นที่เรากังวลไปมากกว่านั้นคือ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศมีข้อกำหนดในกรณีที่ชาวต่างชาติมาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยในระยะยาว (long stay) จะต้องยื่นแสดงเอกสารหลักฐานการทำประกันสุขภาพกับบริษัทในประเทศไทยตามที่ คปภ.เห็นชอบ
ฉะนั้นคงต้องมีตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม เพราะอาจมีเอกสารที่ออกโดยบริษัทประกันภัยดังกล่าวซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง
“ผมได้รับมอบหมายให้ไปติดต่อ ตม. กับกรมศุลกากร ที่จะเข้าไปขอตรวจสอบรายละเอียดว่ามีการทำประกันภัยกับบริษัทนี้หรือไม่ ถ้ามี มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งได้นัดหมายกันไว้แล้ว ต้องยอมรับว่าตอนนี้กลายเป็นว่าจากปัญหาการร้องเรียนการทำประกันภัยสัตว์เลี้ยง ได้ขยายผลไปเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยและประเทศไทยด้วย”
- กี่เดช อนันต์ศิริประภา วางมือ ลาออก ผอ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย
- นายกสมาคมประกันภัย ดันเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น
- นายกประกัน กางแผนยุทธศาสตร์ ลดหย่อนภาษีเบี้ยสุขภาพเกิน 2.5 หมื่น