
“ธปท.-กรุงไทย-ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินภาพรวมสินเชื่อแบงก์ครึ่งหลังปี 2566 ประสานเสียงยังเห็นภาพการฟื้นตัว ชี้ภาคท่องเที่ยว-บริการฟื้นหนุนเอสเอ็มอีปรับดีขึ้น-ความเปราะบางลดลง แต่ยังต้องติดตามดูแลคุณภาพหนี้ต่อเนื่อง “ผยง” ระบุแบงก์ต้องปล่อยกู้ระมัดระวัง เหตุภาคส่งออกชะลอ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดสินเชื่อธุรกิจพลิกเป็นบวก
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในครึ่งหลังของปี 2566 การเติบโตของสินเชื่อน่าจะยังคงมีอยู่ ทั้งภาคการผลิต และภาคบริการที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้จะมีบางภาคธุรกิจอาจฟื้นตัวช้า
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 1 ธ.ค. 2566
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
แต่ถือว่าเป็นไปตามภาพรวมของเศรษฐกิจที่มีการฟื้นแบบไม่สม่ำเสมอ (uneven) อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของธุรกิจยังไม่ได้เป็นภาพของการฟื้นตัวเต็มที่ แต่ภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอีที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะท่องเที่ยวฟื้นดีขึ้น ทำให้ในภาพรวม ความเปราะบางน้อยลง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของคุณภาพหนี้ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงเป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว แต่ก็มีความเปราะบาง และผันผวนตลอดเวลา
“เป็นปกติของสภาพเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวแบบ uneven แม้ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยวโดยรวมจะฟื้นตัว แต่เอสเอ็มอีบางธุรกิจก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน มีที่ฟื้นตัวได้และยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่โดยรวมถือว่าฟื้นตัว หากเทียบกับระดับก่อนหน้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นมาก”
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง ภาพรวมสินเชื่อยังเติบโตได้ แม้อาจไม่ได้เติบโตเท่าที่ผ่านมา โดยภาคส่วนที่ยังขยายตัวได้ดี จะเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อของแบงก์ จะอยู่ในโหมดของการระมัดระวังมากขึ้น
เนื่องจากมีสินเชื่อบางประเภทที่หดตัว เช่น สินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับภาคส่งออก ที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากการส่งออกที่ปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ด้านสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐยังทรงตัว เนื่องจากไม่มีโครงการใหม่ ๆ เข้ามา
ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอลนั้น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ให้ความยืดหยุ่นกับสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เชื่อว่าในส่วนของหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL cliff) จะไม่เกิดขึ้น และยังเป็นสิ่งที่ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้

“คุณภาพหนี้วันนี้ยังเป็นอะไรที่ต้องประคองต่อ เพราะที่ผ่านมา เราอยู่ภายใต้มาตรการ ธปท.ที่มีความยืดหยุ่นและประคองมาสักระยะ ทำให้คำว่าหน้าผาเอ็นพีแอล ยังเป็นอะไรที่แบงก์เชื่อว่าบริหารจัดการได้ ส่วนจะขึ้นจะลงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังจะเห็นการทยอยฟื้นตัวของสินเชื่อตามปัจจัยเชิงฤดูกาล รวมถึงแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อคลายตัวลง ทั้งในส่วนของสินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยฯประเมินว่า สินเชื่อระบบแบงก์ปี 2566 จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.5-2.8% ถือว่าฟื้นตัวค่อนข้างจำกัด
ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลัง สินเชื่อที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี จะเป็นสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งจะขยายตัวสอดคล้องตามภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้มีการทยอยเบิกใช้วงเงินสินเชื่อตามการผลิตและลงทุนใหม่ โดยสินเชื่อธุรกิจจะกลับมาเป็นบวกเล็กน้อย 0.5-2% จากก่อนหน้านี้ที่ติดลบ ซึ่งทั้งปีนี้ยอดสินเชื่อธุรกิจคงค้างจะอยู่ที่ 4.78 ล้านล้านบาท จากปี 2565 ที่อยู่ที่ 4.71 ล้านล้านบาท