คปภ.เปิดงาน ‘Thailand Insurance Symposium 2018’ หนุนเทคโนโลยีประกันภัยเปลี่ยนโลก

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Insurance Symposium 2018 ครั้งนี้ถือเป็นเวทีเปิดกว้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการเสริมสร้างความรู้ด้านการประกันภัย โดยภาคธุรกิจจะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับกติกาและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีอีกระดับ อันเป็นที่มาของ “RegTech” และ “SupTech” ที่ได้ยินแพร่หลายมากขึ้น

สำหรับ Regulatory Technology หรือ “RegTech” เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับและเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ

1.การพัฒนาระบบ “Dynamic Compliance” ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดตามและอัพเดตกฎหมายและหลักเกณฑ์ ในการกำกับดูแลต่างๆ ทั้งในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค รวมถึงมีกระบวนการในการติดตามและวิเคราะห์การดำเนินการภายในเพื่อป้องกันหรือตรวจจับพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล

2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำ KYC/CDD (Know your customer / customer due diligent) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมถึงป้องกันการฉ้อฉล

3.การพัฒนาระบบเกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลความเสี่ยงที่รวบรวมมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีการกำหนดระบบการแจ้งเตือนถึงกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความเสี่ยง

4.การพัฒนาระบบในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานแบบอัตโนมัติ จะเป็นการใช้ระบบอัตโนมัติในการกรองข้อมูล จัดแบ่งประเภท และนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำในรูปแบบรายงานตามที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของธุรกิจในการจัดทำงานงานนำส่งต่อหน่วยงานกำกับดูแล

นอกจาก RegTech จะเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจในการควบคุมการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้ว สำหรับหน่วยงานกำกับก็เริ่มที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการกำกับดูแลเช่นกัน เรียกว่า RegTech for supervisors หรือ SupTech ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยหน่วยงานกำกับในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์โดยอาศัยระบบอัตโนมัติหรือ AI หรือการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประสานงานกับภาคธุรกิจ เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวในการใช้มาตรการในการกำกับดูแล ตลอดจนยังมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจประกันภัย ทำให้ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่บนโลกออนไลน์และออฟไลน์ สามารถกำหนดสิทธิความเป็นเจ้าของได้ และสามารถโอนส่งต่อถึงกันได้ด้วย ส่งผลให้กระบวนการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาประกันภัยทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น การออกโมเดลด้านการประกันภัยใหม่ๆ เรียกว่า “Parametric Insurance” ในสหรัฐฯเป็นการประกันภัยที่จะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกันเมื่อเกิดเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ และการใช้ระบบ Blockchain ในการทำ smart contract กำหนดข้อตกลงของสัญญาไว้ในโค๊ดคอมพิวเตอร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ตามที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขของสัญญาแล้ว โค๊ดจะดำเนินการตามข้อตกลงโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากโมเดลดังกล่าว บริษัทให้ความสนใจก็จะทำให้ธุรกิจประกันภัยของเรามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น และบริษัทฯประกันจะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้อีกมากมาย