ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนจับตาการประชุมเฟด

ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 19-20 ก.ย. นี้ คาดเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% เหตุตลาดแรงงานเริ่มมีความสมดุล และตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้ร้อนแรงเกินไป

วันที่ 19 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 35.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/9) ที่ระดับ 35.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับตัวลง 5 จุด สู่ระดับ 45 ในเดือน ก.ย. แสดงให้เห็นถึงมุมมองเชิงลบของผู้สร้างบ้านเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง รวมถึงการขาดแคลนคนงานและวัสดุก่อสร้าง

สำหรับดัชนีภาวะยอดขายปัจจุบันและดัชนีคาดการณ์ยอดขายในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างปรับตัวลดสอดคล้องกัน

นอกจากนี้นักลงทุนจับตาดูผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (20/9) โดยนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ สาเหตุจากตลาดแรงงานของสหรัฐที่เริ่มมีความสมดุล รวมทั้งตัวเลขเงินเฟ้อที่ไม่ได้อยู่ในระดับร้อนแรงเกินไป

และคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2566 ขึ้นสู่ระดับ 2.1% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1% ส่งสัญญาณถึงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และเฟดจะปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานของสหรัฐในปี 2566 ลงสู่ระดับ 3.9% และปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงสู่ระดับ 3.5%

นอกจากนี้คาดการณ์ว่าตัวเลข Dot Plot ซึ่งเป็นตัวเลขการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเฟดจะแสดงให้เห็นว่ากรรมการเฟดบางส่วนคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินรายอื่น เช่น เจพีมอร์แกน แอสเซท แมเนจเมนท์ และจานัส เฮนเดอร์สัน อินเวสเตอร์ส คาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้

ล่าสุด CME FedWatch Tool บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 99% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมครั้งนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตร้อยละ 4.3 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 สาเหตุจากปัจจัยด้านการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2568 เป็นอย่างน้อย โดยอาจมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเป็นตัวแปรสำคัญ

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.68-36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 1.0665/69 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/9) ที่ระดับ 1.0655/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงได้รับแรงหนุนจากการแสดงความเห็นของผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ที่ว่า วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีสิ้นสุดลงแล้ว

โดยผู้กำหนดนโยบายบางคนระบุว่า อีซีบีจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน และอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งถ้าหากมีความจำเป็น ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0654-1.0678 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0667/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 147.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์(18/9) ที่ระดับ 147.60/62/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.63/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือน ส.ค. (19/9), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ (20/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (21/9), ดัชนีการผลิตเดือน ก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (21/9), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ส.ค. (21/9) และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (22/9)

สำหรับอัตรป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.20/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.40/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ