หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของ CPF ตลาดรองขายยากง่ายแค่ไหนกัน

นักลงทุน ตั้งสเตตัสถามเพจเฟซบุ๊ก “ชมรมคนรักหุ้นกู้และพันธบัตร” หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของ CPF ตลาดรองขายยากง่ายแค่ไหนกัน ?

วันที่ 21 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเพจเฟซบุ๊กชมรมคนรักหุ้นกู้และพันธบัตรมีสมาชิกรายหนึ่งได้ทำการโพสต์สเตตัสถามว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของ CPF ตลาดรองขายยากง่ายแค่ไหน รบกวนคนมีประสบการณ์ช่วยแนะนำหน่อยครับหลังจากโพสต์ไปไม่นาน ก็มีสมาชิกเข้ามาคอมเม้นต์กันเป็นจำนวนมาก อาทิ

  • ผมซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของ CPF ครั้งแรกเมื่อปี 2017 ได้ดอกเบี้ย 5% ครบกำหนด 5 ปี ซื้อครั้งที่ 2 ปี 2022 ได้ดอกเบี้ย 4.5% และครั้งนี้ปี 2023 ผมจะซื้อครั้งที่ 3 ดอกเบี้ย 5.5% อย่างต่ำ ครบ 5 ปี ผมเชื่อเกือบ 100% ว่าไถ่ถอนแน่ เพราะ CPF เป็นหุ้นปันผลต่อเนื่องมาหลายสิบปี อีกอย่างถ้าซื้อแล้วขายในตลาดรองสัก 3 ปีข้างหน้า คิดว่ากำไรสูง เพราะอเมริกาเข้าสู่ช่วง cut rate ดอกเบี้ย
  • Perpetual bond ส่วนใหญ่จะมีสภาพคล่องในการขายตลาดรองน้อยกว่าหุ้นกู้ที่มีกำหนดระยะเวลาแต่จะมี Perpetual bond บางตัวที่ดอกสูง คนมั่นใจ เวลาขายในตลาดรอง คนแย่งซื้อทันที
  • ผมไม่เคยซื้อ Perpetual bond นะครับ เลยลองสอบถาม Marketing ที่ผมเคยขายตลาดรอง น้องบอกว่าสภาพคล่องน้อยกว่าหุ้นกู้ปกติมากครับ คนที่ซื้อส่วนใหญ่ถือยาว ผมเลยจองไปไม่มากครับถ้าไม่ไถ่ถอนภายใน 5 ปี จะได้ไม่เดือดร้อนครับ
  • เราว่าหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ไม่เหมาะกับผู้ลงทุน ที่ใช้เงินจากเงินหมุนเวียนประจำวันมาลงทุน ควรเป็นเงินเย็นมาก ที่ผู้ลงทุนต้องการดอกผลมาใช้จ่าย และควรต้องรู้ nature ของหุ้นกู้ประเภทนี้ว่า ผู้ออกจะได้ประโยชน์ในรูปบัญชีของกิจการ และมักจะมี call option เมื่อครบ 5 ปี ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอื่นใดที่กิจการจะไม่ใช้สิทธิ call option ถ้าเราเข้าใจ nature ของ bond ตัวนี้เราจะไม่ต่อว่ากิจการ และลงทุนอย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวล ในการหาตลาดรอง สุดท้ายคุณจะลงทุนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อของคุณว่า ผู้ออกจะอยู่กับคุณตลอดไปหรือไม่ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล
  • สภาพคล่องตลาดหุ้นกู้ค่อนข้างต่ำ ไม่เหมือนตลาดหุ้น ถ้าคิดจะขายในตลาดรองส่วนใหญ่จะขาดทุน
  • ตัวที่คุณถาม เชื่อผมเถอะว่าขายง่ายแต่คงขายได้แบบเท่าทุน (ผมพูดถึงเฉพาะตัวที่ถามนะ)
  • รักจะลงทุนในหุ้นกู้ ไม่ควรคิดว่าต้องขายระหว่างทาง ผมคิดว่าไปซื้อหุ้นที่ปันผลสูง ดีกว่า คล่องตัวกว่าเยอะ
  • ถ้าซื้อแล้วมีความคิดจะขายตั้งแต่ยังไม่ซื้อ อย่าซื้อ ถ้าคิดว่า 5 ปีไถ่ถอนก่อนกำหนด อย่าคิดอยากมีสภาพคล่อง ควรลงทุนอย่างอื่น
  • ไม่ควรหวังใช้เงินสำหรับ perpetual bond ไว้ใช้แก้เหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต คิด worst case ไปเลย เสมือนว่ามันขายไม่ได้และไม่ไถ่ถอน และมีเงินก้อนอื่นเหลือพอแบบเหลือ สำหรับเหตุฉุกเฉินที่ไม่ใช่ก้อนนี้อยู่แล้ว จึงซื้อครับ
  • สถิติการปันผลของ CPF ตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนใน SET ตั้งแต่ผลประกอบการปี 1988 ถึงปี 2022 จ่ายปันผลเกือบทุกปีปฎิทิน ยกเว้นปี 1998 ปีเดียวเท่านั้น (ผลประกอบการปี 1997) ที่ไม่จ่ายปันผล
  • อย่าลืมนะครับ ปีนี้ขาดทุน ไม่มีปันผลครึ่งปี
  • กระจายความเสี่ยงกันไป และไม่คิดขายระหว่างทาง ขอแค่บริษัทไม่มีประวัติ และก่อตั้งมานาน มีงบให้ดู รู้ความเป็นไป ตอนนี้ที่กังวลแค่ เรื่องเศรษฐกิจทั่วโลก เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง คิดว่ายังไม่ลดในปีนี้แน่
  • ขายยากทุกตัว ถ้าตัวหุ้นมีปัญหาข่าวไม่ดี

สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ของ CPF หรือของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่มีแผนจะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยมีดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-5 เท่ากับ 5.50-5.65% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยปีที่ 6-25 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตรา 0.25% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยปีที่ 26-50 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตรา 1.00% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปีที่ 51 เป็นต้นไป เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตรา 2.00% ต่อปี

จองซื้อขั้นต่ำ 1 แสน

โดยผู้ลงทุนทั่วไปจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท

รอประกาศวันจองซื้อ คาดว่าจะเปิดจองซื้อในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ดังนี้

  •  ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
  • บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด
  • บริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566

  • องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ A+
  • หุ้นกู้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ A-

โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้คือ

1.การประกอบธุรกิจทั่วไป 2.การขยายธุรกิจ 3.การลงทุนในหุ้นหรือทรัพย์สิน 4.การชำระคืนหนี้ และ 5.การให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทย่อยในกลุ่มซีพีเอฟ หรือเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มซีพีเอฟ