ส่องประวัติ ไทยน้ำทิพย์-หาดทิพย์ ผู้ขายโค้กในไทย ทำไมรายได้ต่างกัน

เปิดประวัติ 2 บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายโค้กในประเทศไทย “ไทยน้ำทิพย์” บุกเบิก 3 ตระกูลดัง “สารสิน-เคียงสิริ-บุญสูง” รายได้ปี’65 กว่า 2 หมื่นล้าน ฟาก “หาดทิพย์” ตระกูล “รัตตกุล” มีรายได้ 7 พันล้าน

วันที่ 23 กันยายน 2566 รู้หรือไม่ว่าผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม “โคคา-โคลา” หรือ โค้ก ในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 2 บริษัท นั่นคือ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)

ถ้าลองสังเกตข้างขวด สำหรับคนภาคใต้ 14 จังหวัด จะดื่มโค้กโดยผู้ผลิต “หาดทิพย์” แต่คนภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย ดื่มโค้กโดยผู้ผลิต “ไทยน้ำทิพย์” โดยมี โคคา-โคลา ประเทศไทย เป็นเจ้าของแบรนด์ที่รับผิดชอบในการทำกิจกรรมทางการตลาด

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปส่องประวัติ “ไทยน้ำทิพย์” และ “หาดทิพย์” รวมถึงเปิดรายได้รวมและกำไรสุทธิ ว่าทั้งคู่ร่ำรวยแค่ไหน และใครคือเจ้าแรกที่ขายโค้กในประเทศไทย

3 ตระกูล ปั้นไทยน้ำทิพย์

เริ่มในปี 2502 กลุ่มนักธุรกิจไทยจากตระกูล สารสิน เคียงศิริ และบุญสูง ได้ร่วมกับ บริษัท โคคา-โคลา เอ็กซ์ปอร์ต คอร์ปอเรชั่น ก่อตั้งบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้การกำกับดูแลกิจการในระยะเริ่มต้น โดย ฯพณฯ พจน์ สารสิน ปูชนียบุคคลผู้ก่อตั้งธุรกิจ ที่บริหารในรูปแบบครอบครัว

ปัจจุบันคุณพรวุฒิ สารสิน นั่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และมีคุณอารักษ์ เคียงศิริ เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยประธานกรรมการ

นอกจากไทยน้ำทิพย์จะขายโค้กแล้ว ปัจจุบันยังผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยอดนิยมอีกมากมาย ได้แก่ สไปรท์, แฟนต้า, ชเวปส์, รูทเบียร์ เอ แอนด์ ดับบลิว, น้ำส้มมินิทเมด สแปลช, มินิทเมด พัลพิ และน้ำดื่มน้ำทิพย์

ปัจจุบันมีสำนักงานและสาขาครอบคลุม 63 จังหวัด และโรงงานบรรจุขวดรวม 5 แห่ง มีการจ้างงานกว่า 8,000 คนทั่วประเทศ ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่โครงการนอร์ธปาร์ค ถนนวิภาวดีรังสิต

รายได้ปี 65 กว่า 2 หมื่นล้าน

ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลงบการเงิน “ไทยน้ำทิพย์” จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงตามงบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด พบว่า มีอยู่ 2 บริษัท ประกอบด้วย  1.บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ 2.บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด

ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น

  • ทุนจดทะเบียน 5,968 ล้านบาท
  • รายได้รวม 3,121 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 236 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 16,357 ล้านบาท
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น 7,221 ล้านบาท

ไทยน้ำทิพย์

  • ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท
  • รายได้รวม 19,739 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 15,424 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 17,737 ล้านบาท
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,335 ล้านบาท

ตระกูล “รัตตกุล” ปั้นหาดทิพย์

ด้านธุรกิจหาดทิพย์นั้น เริ่มต้นประมาณปี 2512 หรือช่วง 10 ปีถัดมา จากไทยน้ำทิพย์ก่อตั้ง โดยหาดทิพย์นำโค้กมาจำหน่ายในภาคใต้ จากการขอลิขสิทธิ์การผลิตจากโคคา-โคลา คัมปะนี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย

โดยเมื่อปี 2512 ก่อตั้งในชื่อ บริษัท นครทิพย์ จำกัด รับลิขสิทธิ์การผลิตและจำหน่ายใน 3 จังหวัดคือ สงขลา สตูล และยะลา และในปี 2517 เปลี่ยนแปลงผู้บริหารและเพิ่มทุน โดย ร.ต.ไพโรจน์ รัตตกุล ได้รับลิขสิทธิ์เพิ่มเป็น 14 จังหวัด และขายมาจนถึงปัจจุบัน

โดยในปี 2521 บริษัท นครทิพย์ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท หาดทิพย์ จำกัด และในปี 2531 แปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยชื่อ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ใช้ชื่อย่อหุ้น HTC

ปัจจุบัน พล.ต.พัชร รัตตกุล ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ HTC

รายได้ 7 พันล้าน

โดยตามข้อมูลงบการเงิน HTC จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2565 และข้อมูลล่าสุดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบว่า

ปี 2565

  • ทุนจดทะเบียน 392 ล้านบาท
  • รายได้รวม 7,092 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 435 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 5,915 ล้านบาท
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,752 ล้านบาท

6 เดือนแรกปี 2566

  • รายได้รวม 4,052 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ 350 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม 6,378 ล้านบาท
  • ส่วนของผู้ถือหุ้น 3,906 ล้านบาท

โดยด้านราคาหุ้น HTC นับจากต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3.20 บาท เพิ่มขึ้น 22.86% โดยปิดตลาดเย็นวันที่ 22 ก.ย. 2566 ที่ราคา 17.30 บาท