เคล็ดวิชา “คาราบาวกรุ๊ป” ทายาทรุ่น 2 ต้องรู้แจ้ง-ทำจริง

เสถียร เสถียรธรรมะ คาราบาวกรุ๊ป

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดสัมมนาหัวข้อที่น่าสนใจ “Family Business in the Changing World” โดยวิทยากรที่มาเล่าบทเรียนการทำธุรกิจครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ ก็คือ “เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ “Thai Family Businesses : Challenger & Opportunities”

“ผมยอมรับว่าธุรกิจคาราบาวกรุ๊ปโตมาได้ขนาดนี้ เกิดจากแรงผลักดันจากคนรุ่นผม แต่เมื่อลูก ๆ เข้ามาทำงาน ผมให้โอกาสเขาได้คิดนอกกรอบ ลองผิดลองถูก และรับผิดชอบในการทำงานใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่เป็นผู้ช่วยผม หรือทำตามแค่ที่พ่อสั่ง เพื่อจะให้เขาเติบโต และเราจะเรียนรู้ไปด้วยกัน” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอคาราบาวกรุ๊ปกล่าว

อาณาจักร “คาราบาวกรุ๊ป”

“เสถียร” กล่าวว่า ตนได้ร่วมทำธุรกิจคาราบาวกรุ๊ป มากับ “แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล” และ “เพื่อนหุ้นส่วนตระกูลถนอมบูรณ์เจริญ” ซึ่งรู้จักมักคุ้นกันดี ทำงานเติบโตมาด้วยกัน โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันขึ้นสู่ปีที่ 21 และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557

ที่ผ่านมาได้ขยายธุรกิจ โดยเข้าร่วมทุนธุรกิจค้าปลีกชื่อ CJ Super Market หรือ CJ Mall ทำมาได้เกือบ 10 ปีแล้ว โดยปีนี้น่าจะมียอดขายกว่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีธุรกิจโรงงานผลิตสุรา คือโรงเหล้าตะวันแดง ที่ทำเมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว มีแบรนด์ อาทิ GALAXY, Tendo, สุราขาว “เหล้าข้าวหอม” ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมียอดขายราว 1 หมื่นล้านบาท และในช่วงปลายปีนี้จะเริ่มผลิตเบียร์ออกขายสู่ตลาด

นอกจากนั้น ยังมีการทำธุรกิจร้านค้าโชห่วยขนาดเล็ก แบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ตอนนี้มีมากกว่า 5,000 ร้านค้า กระจายอยู่กว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ หลังเริ่มทำเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว

เข้าตลาดหุ้นลดปัญหาขัดแย้ง

“เสถียร” กล่าวว่า การตัดสินใจนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2557 เพราะในเชิงโครงสร้างองค์กรจะมีกรอบกติกาชัดเจน อาทิ เรื่องระบบบัญชี, ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่ทำให้หุ้นส่วนไม่ทะเลาะกัน ซึ่งจะไปถึงผู้ถือหุ้นที่จะเข้ามาลงทุนด้วย และในเชิงครอบครัวเองก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะยึดกรอบกติการตรงนี้ ป้องกันความขัดแย้ง ความไม่ชอบมาพากล ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมาก

“การเข้าตลาดหุ้น คือการวางรากฐาน ลู่ทาง ในการทำให้ธุรกิจครอบครัวเราเจริญเติบโตไปอย่างมีหลักมีเกณฑ์ ทำให้สังคมได้เข้ามาร่วมตรวจสอบผ่านกลไกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางไว้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่หากเกิดขึ้นในอนาคต ใครจะอยู่ ใครจะไป หรือใครจะเป็นแค่ผู้ถือหุ้น หรือใครจะขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ก็แก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ไปได้ ก่อนที่จะมีความขัดแย้ง”

ดันทายาทรุ่น 2 รับช่วงธุรกิจ

ในแง่การทำธุรกิจ “เสถียร” เล่าว่า ระหว่างที่ตนบริหารอยู่ ก็พยายามให้ลูก ๆ ค่อย ๆ เข้ามาซึมซับการทำธุรกิจ เข้ามาเรียนรู้งานตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ อย่างลูกชายคนที่ 2 ตอนเรียนอยู่ประเทศออสเตรเลีย ช่วงปิดเทอม ก็ให้กลับมาเป็นเด็กเสิร์ฟที่โรงเบียร์

ส่วนลูกชายคนโตเริ่มเข้ามาทำงานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ให้ไปอยู่กับทีมสาวบาวแดงเลย ซึ่งต้องออกไปทำกิจกรรมในต่างจังหวัด กิน-นอนในโรงแรมคืนละ 350-400 บาท ส่วนลูกสาวที่จบมาจากต่างประเทศก็ให้ไปเป็นเด็กเสิร์ฟโรงเบียร์ที่สิงคโปร์

“เรื่องแรกสุดก่อนจะไปเริ่มงานคือ เขาต้องเข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นคน และเข้าใจสังคมก่อน”

“เสถียร” กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าธุรกิจโตมาได้ขนาดนี้เกิดจากแรงผลักดันจากคนรุ่นตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อลูก ๆ โตขึ้นและเข้ามาทำงานแล้ว ก็ต้องให้โอกาสพวกเขาได้คิดนอกกรอบ ลองผิดลองถูก และรับผิดชอบในการทำงานใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่เป็นผู้ช่วย หรือทำตามแค่ที่พ่อสั่ง เพื่อจะให้เขาเติบโต โดยตนให้ลูกชายคนโตบริหารธุรกิจ CJ และให้ลูกสาวบริหารร้านโชห่วยถูกดี มีมาตรฐาน

“ธุรกิจค้าปลีกนั้นต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูล พฤติกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว คนรุ่นผมก้าวไม่ทัน แต่สิ่งที่ผมช่วยได้คือ เข้าไปเซตโครงสร้างบริหารจัดการ และดูเรื่องคน เพราะเขาอาจจะไม่รอบคอบเท่าผม”

นอกจากนี้ สิ่งที่ตนมักจะพูดคุยกับลูก ๆ และทำให้เห็นคือ ความเข้าใจในกรอบคิดที่พ่อทำ หรือวัฒนธรรมองค์กร “รู้แจ้ง ทำจริง ถูกต้อง แม่นยำ”

“ตอนนี้ธุรกิจคาราบาวกรุ๊ปโตและใหญ่มาก ผมเองไม่เชื่อว่าลูกผมคนใดคนหนึ่งจะสามารถจัดการธุรกิจในกลุ่มทั้งหมดได้ ดังนั้น สิ่งที่พยายามทำในเบื้องต้นคือ การแบ่งแยกหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคตคือ ลูก ๆ ต้องร่วมกันคิด และร่วมกันรับผิดชอบ”

เลี้ยงลูกให้รักกัน ลดปมขัดแย้ง

ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ “คาราบาวกรุ๊ป” กล่าวว่า ในมุมของครอบครัวนั้น ธุรกิจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่เป้าหมายสูงสุดก็คือความสุข ซึ่งการมีความสุขนั้น คือทุกคนต้องรักกัน แล้วเรื่องธุรกิจจะตามมาเอง

“ผมก็ต้องทำให้เห็น ผมเองมีพี่น้อง 10 คน และผมอาจจะฐานะดีกว่าคนอื่น ซึ่งผมก็ดูแลพี่น้อง ดูแลไปถึงพ่อตา แม่ยาย หรือน้องภรรยา ซึ่งผมโชคดี เพราะเรื่องเหล่านี้หล่อหลอมให้ลูก ๆ ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกัน อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นปกติ” เจ้าของอาณาจักร “คาราบาวกรุ๊ป” กล่าว